คำว่ารัฐประหาร (Coup d’ e’tat) มีผู้ให้คำนิยามไว้หลายความหมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีความหมายไปในแนวทางเดียวกัน
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้นิยามศัพท์คำว่ารัฐประหาร หมายถึง การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน
ศ.ดร. ติน ปรัชญพฤทธิ์ นิยามว่าหมายถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ฉับพลัน ซึ่งผู้มีอำนาจบังคับบัญชาล้มล้างรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจโดยการใช้กำลัง หากทำการไม่สำเร็จจะถูกเรียกว่า กบฏ จลาจล (Rebellion) ถ้าการยึดอำนาจนั้นสัมฤทธิผลและเปลี่ยนเพียงรัฐบาล เรียกว่า รัฐประหาร แต่ถ้ารัฐบาลใหม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงมูลฐานระบอบการปกครองเรียกว่า การปฏิวัติ
ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวว่าในทางกฎหมาย รัฐประหาร หมายถึง การใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองอย่างเฉียบพลันจากรัฐบาลโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด (1)
ในพจนานุกรมบริทานิกา คอนไซส์ (Britannica Concise Encyclopedia) นิยามว่า คือ การยุบเลิกรัฐโดยฉับพลัน (Stroke of State) การเข้ามาเถลิงอำนาจโดยเฉียบพลัน มักจะเกิดด้วยความรุนแรง การกระทำดังกล่าวกระทำการโดยกลุ่มก่อการ (a group of conspirators) การรัฐประหารจะเกิดในประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองต่ำ หรือไม่ก็ไร้เสถียรภาพทางการเมือง ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การรัฐประหารมักไม่ประสบความสำเร็จ
พจนานุกรมศัพท์ทางการเมืองของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of Politics) การยุบเลิกรัฐบาลอย่างกะทันหันด้วยกำลังที่ผิดกฎหมาย มักกระทำการโดยกองทัพหรือส่วนหนึ่งของกองทัพ รัฐประหารมักเกิดขึ้นโดยความไม่เห็นชอบของประชาชนหรือไม่ก็มักเป็นความเห็นชอบจากประชาชนบางส่วน ซึ่งมักเป็นชนชั้นกลางหรือไม่ก็ด้วยความร่วมมือของพรรคการเมืองหรือกลุ่มทางการเมือง (2)
จากความหมายข้างต้นดังกล่าวโดยสรุปรัฐประหารซึ่งมาจากคำในภาษาฝรั่งเศสว่า Coup d’ e’tat (คูป์ เด ตา) หมายถึงการใช้ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วนด้วยวิธีการนอกระบบ ไม่มีกฎหมายใดรองรับโดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงตัวหัวหน้ารัฐบาล หรือผู้ปกครองประเทศแล้วจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้ผู้ก่อการรัฐประหารขึ้นมา โดยที่รูปแบบการปกครองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด มีแต่ตัวผู้นำและคณะผู้นำเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าต่อไปหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่าและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ในระยะเวลาไม่นานนักก็ได้ (3)
สำหรับประเทศไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการรัฐประหารจำนวนทั้งสิ้น 12 ครั้ง ดังนี้
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้รับเลือกจากคณะราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ประธานคณะกรรมการราษฎร) (4) ซึ่งพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นคนของกลุ่มอำนาจเก่าที่ถูกโค่นล้มไป ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับคณะราษฎรยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น
เมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ร่างนโยบายเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น ผู้ที่คัดค้านเห็นว่า เป็นโครงการเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์รัสเซียและสภาผู้แทนราษฎรก็ทวงถามโครงการเศรษฐกิจต่อนายกรัฐมนตรี ความขัดแย้งในเวลานั้นแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มอย่างชัดเจน ฝ่ายทหาร แยกเป็นกลุ่มของพระยาพหลพลหยุหเสนากับกลุ่มของพระยาทรงสุรเดช ส่วนสายพลเรือนก็แยกเป็นกลุ่มของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับกลุ่มของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยในคณะรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดาดึงกลุ่มขุนนางเก่าเข้ามากุมอำนาจไว้ได้มากกว่า แต่ในสภาผู้แทนส่วนใหญ่ เป็นผู้นิยมหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ด้านกำลังทหารนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา มีพระยาราชวังสันมือขวาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ทั้งยังได้พระยาทรงสุรเดชเข้ามาหนุน พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงย่ามใจว่าถือไพ่เหนือกว่า ไม่เกรงคณะราษฎรต่อไป และเดินแผนที่จะขจัดให้สิ้นสภาพ
ขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง คณะราษฎรจึงจดทะเบียนตั้งเป็นสมาคมคณะราษฎร ดังนั้นในวันที่ 30 มีนาคม 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงออกประกาศห้ามข้าราชการพลเรือน ทหาร รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนเข้าเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง และสั่งให้ยุบสมาคมคณะราษฎรเสีย ซึ่งในการประชุมสภาผู้แทนเห็นว่าประกาศดังกล่าวถือเป็นเผด็จการ การประชุมเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนพกปืนเข้ามาในสภา นอกจากนั้นในวันที่ 31 มีนาคม 2475 มีพระราชบัญญัติสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.เงินกู้ภายในประเทศและพ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินประจำปี พ.ศ. 2476 เข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเห็นว่าร่างทั้งสองอาจถูกสภาคว่ำ จึงให้พระยาทรงสุรเดชสั่งทหาร 1 กองร้อยมีอาวุธพร้อมเข้าคุมสภา และค้นตัว ส.ส.ทุกคนที่เข้าประชุมเพื่อตรวจอาวุธ ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่สมาชิกสภาผู้แทนเป็นอย่างมาก ในที่สุดสภาก็ลงมติให้ประธานสภาออกคำสั่งห้ามทหารค้นตัวสมาชิกสภาอีกต่อไป
พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงตราพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะถึงเวลาอันควรที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรตั้งผู้แทนขึ้นมาเพราะฉะนั้นจึงเป็นการไม่สมควรที่สภาจะพึงดำริการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศมาแล้วแต่โบราณกาล ณ บัดนี้ปรากฏว่ามีสมาชิก เป็นจำนวนมากแสดงความปรารถนาอันแรงกล้าเพียรจะทำการเปลี่ยนแปลงไปในทางนั้น
โดยวิธีการอันเป็นอุบายทางอ้อมในอันที่จะข่มขู่ให้สภาดำเนินการตามความปรารถนาของตน อันไม่เป็นการสมควร เห็นได้ชัดแล้วว่าจะนำมาซึ่งความไม่มั่นคงของประเทศและทำลายความสมบูรณ์ของอาณาประชาราษฎร์ทั่วไป(5)
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ขึ้นมีข้อความดังต่อไปนี้
1. ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนี้เสียและห้ามไม่ให้เรียกประชุมจนกว่าจะได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ เมื่อมีการเลือกตั้งผู้แทนตามความในรัฐธรรมนูญนั้นแล้ว
2. ให้ยุบคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันนี้เสีย และให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ กอปรด้วยนายกรัฐมนตรีหนึ่งนาย และรัฐมนตรีอื่นๆ ไม่เกิน 20 นาย และให้นายกรัฐมนตรีซึ่งยุบ เป็นนายกของคณะรัฐมนตรีใหม่ กับให้รัฐมนตรีซึ่งว่าการกระทรวงต่างๆ อยู่ในเวลานี้เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรีใหม่โดยตำแหน่ง ส่วนรัฐมนตรีอื่นๆ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
3. ตราบใดยังไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่ และยังไม่ได้ตั้งรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีใหม่ตามความในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เป็นผู้ใช้อำนาจต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้ไว้แก่คณะรัฐมนตรี
4. ตราบใดที่ยังมิได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี
5. ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอการใช้บทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย ส่วนบทบัญญัติอื่นๆ ให้เป็นอันคงใช้อยู่ต่อไป (6)
หลังจากออกประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แล้ว พระยามโนปกรณ์ฯ ก็ออกประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีชุดใหม่ทันทีโดยไม่มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับผู้ใกล้ชิดอีก 4 คน เข้าร่วมด้วย
นอกจากนี้ยังออกแถลงการณ์แจ้งให้ประชาชนทราบถึงเหตุผลที่ต้องปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราว่า
“ในคณะรัฐมนตรีบัดนี้เกิดความแตกแยกกันเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกัน และไม่สามารถจะคล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้น ปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจอันมีลักษณะเป็นคอมมูนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้าม แก่ขนบธรรมเนียมประเพณีชาวสยาม และเห็นได้แน่นอนทีเดียวว่า นโยบายเช่นนี้จักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร์ และเป็นมหัตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ” (7)
การรัฐประหารครั้งแรกเป็นการรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476
รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน 2476 อันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐแห่งชาติ ซึ่งยกร่างโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นเหตุให้รัฐบาลสิ้นสุดลงก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมือง และการเมืองในสมัยนั้นถึงขั้นวิกฤติ เมื่อ 4 ทหารเสือ คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2476
ต่อมาในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 คณะราษฎรภายใต้การนำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนคณะหนึ่ง ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่งเพื่อขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ลาออกจากตำแหน่งซึ่งนับเป็นการลิดรอนอำนาจภายในคณะราษฎรที่มีการแตกแยกกันเอง การยึดอำนาจครั้งนี้อ้างเหตุว่า “คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้นบริหารราชการไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยการปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญหลายบท คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนจึงเห็นจำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจการปกครอง เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ” จะเห็นได้ว่าในส่วนการใช้อำนาจต้องการให้มีการเปิดสภา โดยให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ซึ่งกำหนดให้มีมาตรการป้องกันมิให้ใช้อำนาจในทางที่ละเมิดต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ เช่น ให้มีศาลคดีการเมือง ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่มีอิสระอย่างเต็มที่ การประกาศทรัพย์สินของนักการเมืองทุกคนทุกตำแหน่ง การออกกฎหมายผลประโยชน์ขัดกัน ฯลฯ
ภายหลังการยึดอำนาจ พระยาพหลพลพยุหเสนาได้มอบหมายให้เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความกราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 21 มิถุนายน 2476 และทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีนับเป็นการทำรัฐประหารในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วยการเปลี่ยนรัฐบาลและยึดอำนาจภายในกลุ่มคณะราษฎรด้วยกันเอง (8)
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นการยึดอำนาจโดยคณะทหารบก ซึ่งผู้นำส่วนใหญ่เป็นนายทหารนอกประจำการโดยมีพลโท ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าใช้ชื่อ “คณะทหารของชาติ” ประกอบด้วย นาวาเอก กาจ กาจสงคราม พันโท ก้าน จำนงภูมิเวท พันเอก สวัสดิ์ สวัสดิเกียรติ พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพันเอก เผ่า ศรียานนท์ โดยมีนายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) เป็นผู้อุปถัมภ์ด้านเงินทุนค่าใช้จ่ายในการทำรัฐประหาร ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการยึดอำนาจ คือ
1. ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคของประชาชน เช่น การขาดแคลนข้าว
2. ปัญหาเศรษฐกิจการเงินของประเทศภายหลังสงครามโลก เช่น ราคาสินค้า ปัญหาเงินเฟ้อ
3. ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาลพลเรือนภายหลังสงครามโลก
4. ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ เช่น เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม
5. ปัญหาการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่ไม่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงให้กระจ่างแจ้ง
6. ความไม่พอใจของกลุ่มทหารบกในเรื่องนโยบายการปลดทหารประจำการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของรัฐบาลพลเรือน ทำให้ทหารเกิดความรู้สึกว่าถูกรัฐบาลทอดทิ้งและถูกเหยียดหยามเกียรติภูมิของทหาร
เมื่อทำการรัฐประหารได้สำเร็จ คณะรัฐประหารได้สนับสนุนให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร และแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย และได้ประกาศยุบสภาและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 โดยได้นำร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2490 หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” ร่างโดยนาวาเอก กาจ กาจสงคราม ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 มาตรา 33 และมาตรา 37 ได้กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทน โดยพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง และได้มอบหมายให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้บุคคลสำคัญหลายท่าน อาทิ เช่น พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายปรีดี พนมยงค์ และบรรดาคณะรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลต่างหลบหนีภัยการเมืองบางคนได้รับความช่วยเหลือจากนายทหารเรือ เช่น พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และนายปรีดี พนมยงค์ หลบซ่อนอยู่ที่สัตหีบ และต่อมานายปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางลี้ภัยทางการเมืองออกไปอยู่ที่สิงคโปร์ระยะหนึ่ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากทูตทหารอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ในกรุงเทพฯ นายปรีดี พนมยงค์ ได้พำนักอยู่ในประเทศจีนในฐานะแขกของรัฐระหว่างปี พ.ศ. 2491-2513 และต่อจากนั้นได้เดินทางไปพำนักในประเทศฝรั่งเศสจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526
การยึดอำนาจครั้งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ “รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490” ซึ่งเป็นการกลับคืนอำนาจของฝ่ายทหารบก (9)
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2491
หลังจากที่กลุ่มนายทหารภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 จากนั้นจึงได้แต่งตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้นแล้วในวันที่ 6 เมษายน 2491 นายทหารในกลุ่มเดิม จำนวน 4 คน ขัดกระบี่ถือปืนเข้าพบนายควง อภัยวงศ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้จ่ายเงินจำนวน 28 ล้านบาท ระหว่างสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างเดินทางกลับจากเชียงตุง ซึ่งได้ทำการเบิกก่อนหน้านั้นแล้วจากกระทรวงการคลัง 9 ล้านบาท แต่นายควง ไม่ยอมจ่ายซึ่งเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างนายควงกับทหารกลุ่มนี้มาอยู่ก่อนแล้ว และก่อนหน้านั้นมีข่าวลือแพร่กระจายไปว่าจะเกิดการรัฐประหารซ้อน นายควงพยายามติดต่อผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารอากาศ เพื่อขอความคุ้มครองแต่ไม่ได้ผล ในที่สุดกลุ่มนายทหารจึงบีบบังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกภายใน 24 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้นายควง อภัยวงศ์ ออกจากตำแหน่งในวันที่ 8 เมษายน และปลายเดือนเมษายน คณะรัฐมนตรีมีมติให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ถือเป็นการรัฐประหารเงียบ และเป็นการรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลซึ่งคณะทหารของชาติแต่งตั้งขึ้นเอง (10)
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494
การรัฐประหารที่ผ่านมาจะกระทำโดยกลุ่มคนฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล แต่จอมพล ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีกลับวางแผนยึดอำนาจตัวเอง เหตุเกิดโดยไม่มีเค้าลางมาก่อน บ้านเมืองกำลังอยู่ในบรรยากาศสดใสเตรียมการรับเสด็จที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถพร้อมพระราชธิดาจะเสด็จนิวัติกลับพระนครในวันที่ 2 ธันวาคม เมื่อเริ่มค่ำของวันที่ 29 พฤศจิกายน นั้น มีกำลังตำรวจพร้อมด้วยยานยนต์หุ้มเกราะก็เคลื่อนออกมาคุมจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น สถานีวิทยุกรมโฆษณาการ ทำเนียบรัฐบาล และสี่แยกสำคัญหลายแห่ง จากนั้นในเวลา 20.05 น. สถานีวิทยุกรมโฆษณาการ วิทยุกรมการรักษาดินแดนและวิทยุตำรวจได้อ่านแถลงการณ์ของคณะผู้ก่อการรัฐประหารมีความว่า
เนื่องจากสถานการณ์ของโลกปัจจุบันนี้ตกอยู่ในภาวะคับขันทั่วไปภัยแห่งคอมมิวนิสต์คุกคามอย่างรุนแรง ในคณะรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ก็ดี ในรัฐสภาก็ดี มีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์เข้าแทรกซึมอยู่เป็นอันมาก แม้ว่ารัฐบาลจะทำความพยายามสักเพียงไรก็ไม่สามารถจะแก้ไขเรื่องคอมมิวนิสต์ได้ ทั้งไม่สามารถปราบปรามทุจริตที่เรียกว่าคอร์รัปชั่นได้ดังที่มุ่งหมายว่าจะปรามความเสื่อมโทรมนี้มากขึ้นจนเป็นที่วิตกว่าประเทศชาติจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสถานการณ์อย่างนี้
คณะทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 พร้อมด้วยประชาชนผู้รักชาติ มุ่งความมั่นคงดำรงอยู่แห่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พระบรมราชวงศ์จักรี และระบอบรัฐธรรมนูญ ได้พร้อมกันเป็นเอกฉันท์กระทำการเพื่อนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 กลับมาใช้จึงขอประกาศให้ประชาชนทราบดังต่อไปนี้
1. อำนาจและหน้าที่ของรัฐบาลปัจจุบันได้สิ้นสุดลงในวันเวลาที่ประกาศนี้
2. รัฐสภาในปัจจุบันทั้งรัฐสภาและวุฒิสภาเป็นอันยุบเลิกไป
3. มีคณะบริหารประเทศชั่วคราวดังมีรายนามต่อไปนี้
พลเอกผิน ชุณหะวัณ
พลโทเดช เดชปฏิยุทธ
พลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์
พลเรือตรีหลวงยุทธศาสตร์โกศล
พลเรือตรีหลวงชำนาญอรรถยุทธ์
พลเรือตรีสุนทร สุนทรนาวิน
พลอากาศเอกฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี
พลอากาศโทหลวงเชิดวุทธากาศ
พลอากาศโทหลวงปรุง ปรีชากาศ
คณะบริหารประเทศชั่วคราวกำลังดำเนินการกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภท 2 และจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ
จากนั้นในเวลา 20.00 น. คืนนั้น คณะบริหารประเทศชั่วคราวก็ได้ประกาศออกมาว่าได้ฟอร์มรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยจอมพล ป พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (11)
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500
ในวันที่ 20 สิงหาคม 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลโท ถนอม กิตติขจร พลตรี ประภาส จารุเสถียร พลตรีศิริ สิริโยธิน และพลอากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคเสรีมนังคศิลา และมีสมาชิกอื่นลาออกอีกเป็นจำนวน 46 คน ทำให้พรรคเสรีมนังคศิลามีฐานะที่ไม่เข้มแข็งพอ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รวมตัวกันจัดตั้งพรรคสหภูมิ มีนายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค ต่อมาในวันที่ 13 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก กับพวกทหารอีกหลายคนได้ร่วมกันประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้นและเห็นชอบที่จะเสนอข้อเรียกร้องแก่รัฐบาล 2 ข้อ ด้วยกัน คือ
1. ขอให้รัฐบาลลาออกทั้งคณะ เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
2. ให้พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองและให้เดินทางไปอยู่ต่างประเทศ
ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2500 รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ทางวิทยุกระจายเสียง โดยมีใจความสำคัญว่ารัฐบาลได้พิจารณาข้อเรียกร้องแล้ว และรัฐบาลก็ได้มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยและเสียงเรียกร้องของประชาชนอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุอันใดอันที่จะทำให้รัฐบาลลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะต่อมาในวันที่ 15 กันยายน 2500 ได้มีการชุมนุมเปิดไฮปาร์คขึ้นที่ ท้องสนามหลวงโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรงและกลุ่มชนเหล่านั้นได้เดินขบวนไปพบจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่บ้านพักพร้อมกับเรียกร้องให้ขับไล่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะทหาร ใช่ชื่อ “ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร” จึงได้กระทำรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน 2500 ในวันเดียวกันนั้นก็ได้มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารด้วยเหตุผลว่า “รัฐบาลอันมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหารซึ่งมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้ได้ และทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ขอให้ประชาชนทั้งหลายอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารสำเร็จ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ส่วนพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ถูกคณะทหารเรียกตัวมาพบและบังคับให้ออกไปอยู่นอกประเทศ ภายหลังจากการทำรัฐประหาร ได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารได้มีการประกาศ เรื่อง การใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ยังคงใช้อยู่ แต่ได้กำหนดเงื่อนไขบางประการและในวันที่ 18 กันยายน 2500 ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 (สมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้น มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ 1 ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง) ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นทหารจาก 3 เหล่าทัพ มีพลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2500 (12)
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501
การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการกระทำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และประกอบด้วยนายทหารซึ่งส่วนใหญ่ได้ร่วมกันทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 มาแล้วทั้งสิ้นโดยเตรียมการขณะพำนักเพื่อรักษาสุขภาพอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อเห็นว่าพลโท ถนอม กิตติขจร ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้เชิญนายถนัด คอมันตร์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และหลวงวิจิตรวาทการ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอน สวิตเซอร์แลนด์ มาปรึกษาเพื่อเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับประเทศไทย เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 18 ตุลาคม 2501 ก็ได้เข้าร่วมปรึกษาสถานการณ์บ้านเมืองกับพลโท ถนอม กิตติขจร และบุคคลสำคัญอีกหลายคน ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 พลโท ถนอม กิตติขจร ได้นำคณะรัฐมนตรีกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง ภายหลังการลาออกของคณะรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครอง
การรัฐประหารครั้งนี้ คณะทหารเรียกตนเองว่า “คณะปฏิวัติ” และได้มีการชี้แจงว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” ไม่ใช่ “รัฐประหาร” (ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 3) คณะปฏิวัติย้ำว่าเป็นการปฏิวัติทุกสิ่ง เริ่มตั้งแต่สถาบันการเมืองทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ยกเลิกพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐสภา และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ออกกฎหมายควบคุมหนังสือพิมพ์ อีกทั้งได้ออกประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง และดำเนินนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์และอันธพาลอย่างเฉียบขาด การปฏิวัติครั้งนี้จึงเป็นการยกเลิกการเมืองแบบเดิม คณะปฏิวัติมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารประเทศ และประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรไทยโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาและสถานที่ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2501 เป็นต้นไป (13)
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ทำการรัฐประหารตัวเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งได้ คณะรัฐประหารได้เรียกคณะของตนเองว่า “คณะปฏิวัติ” โดยมีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า และมีพลเอก ประภาส จารุเสถียร เป็นรองหัวหน้า คณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ยกเลิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี (ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 3) หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือน และได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 คณะปฏิวัติได้จัดตั้ง “สภาบริหารคณะปฏิวัติ” ขึ้น (ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 34) เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ โดยมีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติ และมีผู้อำนวยการ 4 ฝ่าย คือ พลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ นายพจน์ สารสิน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรและคมนาคม และพลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและสาธารณสุข
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 คณะปฏิวัติได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และได้มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 299 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่ออกกฎหมายและอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอมาเพื่อให้พิจารณา และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้ แต่ห้ามอภิปรายหรือซักถามเพิ่มเติม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามรัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีพลตรี ศิริ สิริโยธิน เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายทวี แรงขำ เป็นรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง และพลเรือเอกกมล สีตะกลิน เป็นรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่สอง จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี (14)
การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นิสิต นักศึกษา ประชาชนต่างเริงร่าในความสำเร็จที่สามารถโค่นล้มเผด็จการที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานได้ แต่กลุ่มผู้สูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ต่างเกลียดชังนิสิต นักศึกษา และหาทางทวงอำนาจคืน หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ สหภาพแรงงาน ตัวแทนของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ได้ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม กรรมกรมีการนัดหยุดงานเพิ่มมากขึ้นประกอบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเอเซียอาคเนย์ได้มีชัยต่อฝ่ายโลกเสรี อีกทั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศมาคบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ และยังให้ทหารอเมริกันที่เข้ามาตั้งฐานทัพในไทยออกไปจากประเทศ ทำให้ฝ่ายทหารไม่พอใจนโยบายนี้ประชาชนถูกทำให้เกิดความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ทั้งยังเกรงว่าขบวนการนิสิต นักศึกษา ชาวนาและกรรมกรจะเป็นแนวร่วมของคอมมิวนิสต์ จึงรวมกันตั้งขบวนต่อต้านขึ้นมา อาทิเช่น กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ชมรมวิทยุเสรี กลุ่มดังกล่าวตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ความรุนแรง
ต่อมาในวันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้เดินทางกลับไทยเพื่อบวชเป็นพระภิกษุ การชุมนุมประท้วงขับไล่ได้เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ในเช้าวันที่ 21 กันยายน ได้พบศพชาย 2 คน ถูกแขวนคอข้างถนนที่นครปฐม โดยเป็นฝีมือของตำรวจ เพราะไปปิดโปสเตอร์ประท้วงพระถนอม กรณีดังกล่าวนักศึกษาได้นำเรื่องนี้ไปแสดงเป็นละครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และดาวสยาม ได้ลงภาพการแขวนคอและกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ก็มีการถกเถียงกันว่าเป็นการแต่งหน้าให้แสดงเหมือนองค์รัชทายาทหรือแต่งในภาพที่ตีพิมพ์กันแน่
ในตอนเย็นวันนั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมี พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตีว่าการกระทรวงกลาโหม กลางดึกคืนนั้น มีกลุ่มคนติดอาวุธเข้ารายล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนใกล้สว่างความรุนแรงก็ยิ่งเพิ่มขึ้นถึงขั้นยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าไปในธรรมศาสตร์ จากนั้นประตูด้านสนามหลวงก็ถูกพุ่งชนด้วยรถบัส ตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง และกลุ่มอันธพาลก็บุกกรูเข้าไป นิสิตนักศึกษาบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
ในเวลา 18.00 น. จึงมีแถลงการณ์ของคณะทหารที่เรียกตัวเองว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ได้ยึดอำนาจการปกครองไว้ได้แล้ว คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 และได้ใช้คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเป็นกฎหมายในการปกครองประเทศชั่วคราว และได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ห้ามออกจากบ้านในเวลา 24.00 น. ต่อมาคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้มอบอำนาจให้ฝ่ายพลเรือนเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (15)
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520
แม้ว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจะสลายตัวเมื่อแต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นแล้ว แต่ก็ยังเกาะกลุ่มกันเป็นเกราะคุ้มครองรัฐบาล จนรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับฉายาว่า รัฐบาลหอยมีเปลือกหอยคุ้มครอง แต่รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลขวาตกขอบต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างไม่ลืมหูลืมตา จนเปลือกหอยเองก็อึดอัดกับนโยบายของรัฐบาลหอย จนกระทั่งในวันที่ 20 ตุลาคม เวลา 17.30 น. ได้มีทหาร ร.1 พัน 3 ประมาณ 100 คน โดยรถยีเอ็มซี 3 คัน อาวุธครบมือก็เคลื่อนขบวนเข้ามาในทำเนียบรัฐบาล ตามมาด้วยรถจิ๊ปติดปืนกลอีกหลายคัน และในเวลา 18.00 น. ก็มีแถลงการณ์คณะปฏิวัติฉบับที่ 1 ว่าคณะปฏิวัติประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ สถานการณ์ทั้งหลายตกอยู่ใต้การควบคุมของคณะปฏิวัติ เหตุผลของการปฏิวัติเนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์ตกอยู่ในภาวะที่ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกกังวล การบริหารราชการแผ่นดินไม่มีผลคืบหน้า ข้าราชการมีความรู้สึกท้อแท้ในการปฏิบัติราชการ ประชาชนทั่วไปมีความสับสนในสถานการณ์ที่แท้จริงของประเทศ จนเกิดความแตกแยกความคิดเห็นและความสามัคคีอย่างกว้างขวาง เสรีภาพในการมีส่วนร่วมถูกปิดกั้น การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นไปในทิศทางความต้องการของประชาชน ในด้านเศรษฐกิจ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นมาก การลงทุนจากต่างประเทศก็ลดลง การว่างงานเพิ่มมากขึ้น
ภายหลังการยึดอำนาจได้สำเร็จ คณะรัฐประหารได้มอบหมายให้พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 โดยประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ซึ่งธรรมนูญฯกำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภาและสภาร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับให้มีสภานโยบายแห่งชาติมีฐานะเหนือกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี (16)
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534
คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ “คณะ รสช.” ประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้าหน้าที่ตำรวจและพลเรือน ภายใต้การนำของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี
ภายหลังจากยึดอำนาจ คณะ รสช. ก็เดินหน้ายึดทรัพย์นักการเมือง รวมทั้งได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 และได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 แทน ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม 2534 คณะ รสช. ได้แต่งตั้งให้นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
รัฐบาลชุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีได้เข้าบริหารประเทศ และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ภายหลังการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคสามัคคีธรรมได้รับคะแนนเสียงสูงสุด โดยมีการรวมตัวของพรรคการเมือง 5 พรรค เพื่อจัดตั้งเป็นรัฐบาล และได้เสนอชื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ เนื่องจากนายณรงค์ วงศ์วรรณ ต้องมัวหมองเรื่องถูกประเทศสหรัฐอเมริกางดออกหนังสือนำตรวจลงตราเข้าประเทศหรือวีซ่าให้เข้าประเทศ เพราะกรณีมีข้อสงสัยว่ามีส่วนพัวพัน กับการค้ายาเสพติด ดังนั้น พรรคการเมืองทั้ง 5 พรรค จึงสนับสนุนให้พลเอก สุจินดา คราประยูร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การชุมนุมคัดค้านคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ระหว่างวันที่ 17 – 21 พฤษภาคม 2535 โดยประชาชนได้ชุมนุมเรียกร้องให้พลเอก สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (17)
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
การรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยการรวมตัวของคณะบุคคลที่เรียกตนเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) โดยมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้า
ก่อนหน้าเหตุการณ์การรัฐประหารครั้งนี้ เมื่อเวลา 22.15 นาฬิกา ของคืนวันเดียวกันนี้ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการได้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 อสมท. ประกาศภาวะฉุกเฉิน รัฐประหารตัวเอง มีคำสั่งปลดพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ออกจากตำแหน่งพร้อมกับมีคำสั่งให้ไปรายงานตัวต่อพลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี โดยได้แต่งตั้งพลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ยังไม่ทันที่การออกอากาศจะเสร็จสิ้น สัญญาณการออกอากาศก็ถูกตัดเสียก่อน จากนั้นเวลา 22.30 นาฬิกา ทหารจำนวนหนึ่งได้บุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วยรถถังประมาณ 10 คัน และรถฮัมวี่ 6 คัน กระจายกำลังเข้าควบคุมตามจุดต่าง ๆ และให้ตำรวจสันติบาลและสื่อมวลชนออกจากทำเนียบรัฐบาล
หลังจากนั้น เวลาประมาณเที่ยงคืนวันเดียวกัน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้มีแถลงการณ์การยึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยระบุถึงสาเหตุของการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า สืบเนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดินอันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนสังคมจะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้
ภายหลังการยึดอำนาจได้เป็นผลสำเร็จ คปค. ได้ประกาศกฎอัยการศึกและยกเลิกคำสั่งประกาศภาวะฉุกเฉินของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ ที่ได้มีประกาศก่อนมีการยึดอำนาจโดย คปค. โดยมีคำสั่งปลดพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และให้วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนี้ยังได้ประกาศให้มีการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นโดยเร็ว พร้อมกับเรียกร้องให้นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย และได้มอบหมายให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลต่อไป (18)
อ้างอิง
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. การรัฐประหารในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร : 2550. หน้า 9 – 10.
2. วิกิพีเดีย. การรัฐประหาร, (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://th”wikipedia.org (27 กุมภาพันธ์ 2556) หน้า 1.
3. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. การรัฐประหารในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร : 2550. หน้า 10 – 11.
4. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ – รัฐประหาร กบฏในเมืองไทยปัจจุบัน : บทวิเคราะห์และเอกสาร. กรุงเทพมหานคร : 2550. หน้า 25.
5. โรม บุนนาค. คู่มือรัฐประหาร. กรุงเทพมหานคร : 2549. หน้า 55 – 61.
6. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475 – 2517). กรุงเทพมหานคร : 2517. หน้า 60 – 61.
7. โรม บุนนาค. คู่มือรัฐประหาร. กรุงเทพมหานคร : 2549. หน้า 62.
ส พจนานุกรม 在 น้องไอริส พจนานุกรมพูดได้ ฝันขอไม้เท้าให้ยาย | By Super100 的美食出口停車場
น้องไอริ ส พจนานุกรม พูดได้ ฝันขอไม้เท้าให้ยาย #Super10 #Season4 #Workpoint23 #Superjeew. ... <看更多>
ส พจนานุกรม 在 พจนานุกรม : Black Vanilla [Official MV] - YouTube 的美食出口停車場
7.9M views 9 years ago #BlackVanilla #โตมากับอาร์เอ ส # พจนานุกรม. ... <看更多>