ทำไมมีบางคนได้ก่อน?
ย้อนกลับไปดูวัฒนธรรมเราว่าอะไรทำให้สังคมไทยมี 'VIP' ที่ได้โอกาส สิทธิ ผลประโยชน์ก่อนคนอื่น มากกว่าคนอื่น คำว่าพี่น้อง ผู้ใหญ่ผู้น้อย พรรคพวก เจ้าพ่อ บอกอะไรกับเรา?
#Roundfinger #นิ้วกลม #ความสุขโดยสังเกต #Haveaniceday #Haveanicebrain #ทักษะความสุข #สังคมวัฒนธรรม
สังคมวัฒนธรรม 在 sittikorn saksang Facebook 的最讚貼文
แนวคิดปรัชญากฎหมายที่มีอิทธิพลต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2550
Philosophy of law affecting the preparation of the Constitution 2550.
รองศาสตราจารย์สิทธิกร ศักดิ์แสง*
บทนำ
แนวคิดปรัชญาทางกฎหมายของสำนักต่างๆที่มีการอ้างถึง ปรัชญากฎหมายสำนักต่างๆ เช่น ปรัชญากฎหมายปฏิฐานนิยมได้มีอิทธิพลต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2550 (ฉบับปัจจุบัน) การให้อำนาจของข้าราชการ การทำให้รัฐธรรมนูญมีสภาพบังคับมากขึ้น เป็นต้น ปรัชญากฎหมายธรรมชาติที่ผสมผสานกับปรัชญานิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา เช่น ยอมรับความเป็นสิทธิอันมีตัวตนแท้จริงและมีฐานะเป็นรูปแบบหนึ่งของการปกป้องคุ้มครองชีวิต (Positive Right) มีการพัฒนาการของสิทธิมนุษยชนที่เน้นความสำคัญของเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และการเมือง ที่เรียกว่า สิทธิในการพัฒนาซึ่งหมายถึงสิทธิมนุษยชน ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีสาระครอบคลุมถึงสิทธิในการเข้าร่วมมีบทบาทและได้รับการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมหรือการเมือง สิทธิในการกำหนด วิถีชีวิตของตนเองและสิทธิ เหนือความมั่นคงและทรัพยากรธรรมชาติทั้งมวล เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงปรัชญากฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีอิทธิพลต่อการแย่งชิงคำนิยามทางความคิดเชิงอุดมคติ เรื่อง สิทธิมนุษยชนที่มีการต่อสู้ขัดแย้งหรือความสับสนทางความคิดนานาประการก่อนสำเร็จเป็นรูปธรรมระดับหนึ่งในรัฐธรรมนูญ 2540 และได้มีอิทธิพลต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีปรัชญากฎหมายที่สำคัญดังนี้
ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ (Natural Law)
ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ที่กล่าวถึงกฎหมายที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์ค้นพบขึ้นมาโดยอาศัยเหตุผลในธรรมชาติมนุษย์และที่สำคัญกฎหมายธรรมชาตินั้นมีความเกี่ยวพันกับคุณค่าทางศีลธรรม ความยุติธรรมอยู่เสมอ ทำให้เราสามารถตระหนักได้ถึงหลักคุณค่าอันมีเนื้อหาที่สามารถหยั่งรู้ได้เป็นนิรันดรและเป็นสากล
แนวคิดปรัชญากฎหมายธรรมชาติในรัฐธรรมนูญ 2550 ยังคงหลักการเดิมในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ได้คุ้มครอง ส่งเสริมและการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่และง่ายต่อการกระทำของประชาชน มากกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เช่น ทำให้สิทธิเสรีภาพนั้นมีประสิทธิภาพและมีมาตรการคุ้มครองอย่างชัดเจน ได้ตัดคำว่า “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ออกจากท้ายบทบบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพในหลายมาตรา เพื่อส่งสัญญาณว่าสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเกิดขึ้นทันทีตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมาย การให้สิทธิประชาชนมีสิทธิฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 212) การให้สิทธิชุมชนมีสิทธิชุมชนที่มีการละเมิดสิทธิชุมชน (มาตรา 67 วรรคสาม) การให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฟ้องศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้ ในกรณีที่กฎหมาย กฎ คำสั่ง หรือการกระทำใดขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นผู้เสียหายแทนประชาชนเพื่อฟ้องศาลได้ ในกรณีที่มีการะเมิดสิทธิมนุษยชน (มาตรา 257 (2) (3) และ(4) และในกรณีที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการมิชอบอันมีผลกระทบต่อประชาชนส่วนรวม ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้โดยมิต้องมีการร้องเรียนก่อน (มาตรา 244 วรรคสอง)
ปรัชญากฎหมายบ้านเมืองหรือปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย (Positive Law)
ปรัชญากฎหมายปฏิฐานนิยมหรือกฎหมายบ้านเมืองที่มีจุดยืนของกฎหมายที่ต้องมีความดำรงอยู่อย่างน้อย 3 ประการ คือ
1) การยืนยันการดำรงอยู่ของกฎหมายขึ้นอยู่กับที่มันที่ถูกสร้างขึ้นโดยผ่านการตกลงปลงใจของมนุษย์ในสังคม
2) การยืนยันว่าการดำรงอยู่หรือความสมบูรณ์หรือความเป็นกฎหมายนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เป็นมาตรฐานทางศีลธรรมหรือความยุติธรรมที่ต้องมีในตัวกฎหมาย
3) เป็นจุดยืนเกี่ยวกับภาคบังคับกฎหมายโดยธรรมชาติต้องมีสภาพบังคับหรือบทลงโทษต่างๆ
รัฐธรรมนูญ 2550 ให้ความสำคัญกับแนวคิดปรัชญากฎหมายปฏิฐานนิยมเข้มและข้นกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เช่น
1.ในประเด็นที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 309 คือ การยอมรับการกระทำการใดๆที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2549 (ฉบับชั่วคราว) ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่ากอ่นหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ซึ่งแสดงว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 นั้นมีความหมายเท่ากับการตรารัฐธรรมนูญขึ้นภายใต้หลักการที่ว่า หากเป็นประกาศ เป็นคำสั่งหรือเป็นการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติแล้ว แม้ในอนาคตข้างหน้า เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้แล้ว หากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติ แทนที่ประกาศหรือคำสั่งคณะปฏิวัตินั้นจะสิ้นผลไป การณ์กลับกลายเป็นว่าในกรณีเช่นนี้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญต้องหลีกทางให้ประกาศของคณะปฏิวัติ
2. ประเด็นการเปลี่ยนอำนาจวินิจฉัยพิจารณาในการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติส่งให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (มาตรา 263,264) ด้วยเหตุผลที่ว่านอกจากการมีสภาพบังคับทางรัฐธรรมนูญ คือ การตัดสิทธิทางการเมืองแล้วนั้น ให้มีสภาพบังคับทางอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ด้วย
3. สภาพบังคับในประเด็นการยุบพรรคการเมืองเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคคนใด ถือว่าเป็นการกระทำของกรรมการบริหารพรรคการเมืองด้วย ต้องยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น 5 ปีด้วย (มาตรา 237 วรรคสอง) เป็นต้น
ปรัชญากฎหมายประวัติศาสตร์ (Historical Law)
ปรัชญากฎหมายประวัติศาสตร์ให้ความสำคัญกับแนวความคิดจิตวิญญาณของมนุษย์ที่เรียกว่า “จิตสำนึกร่วมของประชาชน” เชื่อมโยงเข้าหาสังคม ประวัติศาสตร์สังคม โยงเข้าหาจารีตประเพณี ซึ่งเป็นการปรองดองประนีประนอม “ชุมชน” มากกว่าปัจเจกชน ย่อมจัดเป็นคุณค่าพื้นฐานอันสำคัญที่น่าจะเชื่อมโยงเข้ากับแนวทางแก้ไขวิกฤตสังคมปัจจุบันในเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างน้อยหลักคุณค่าเกี่ยวกับ “อหิงสา” และการเน้นคุณค่าของ “ชุมชน” เรียกว่า “สิทธิชุมชน” มีที่มาจากลัทธิชุมชนนิยม(Collectivism)หรือลัทธิประชาคมนิยม (Civil Societiesm) หรือชุมชนนิยม (Communitariannist) ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของโลกที่ 3 ที่เน้นความสำคัญในเชิงกลุ่มเป็นพื้นฐาน
แนวคิดปรัชญากฎหมายประวัติศาสตร์ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ปรากฏหลักการเช่นเดียวกันกับ รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ได้ขยายสิทธิชุมชน เช่น การเพิ่มสิทธิชุมชนและชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้ครอบคลุมถึงกรณีการรวมตัวกันของบุคคลขึ้นเป็นชุมชนโดยไม่จำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นเวลานานจนถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม (มาตรา 66) กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยคำนึงถึงความสอดคล้อง กับสภาพแวดล้อมและวิถีของชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น นับว่าเป็นการให้ความสำคัญกับการให้สิทธิประชาชนในเรื่องการรวมตัวกันเป็นสิทธิชุมชนปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองว่า รัฐจะดำเนินการการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้ ต้องได้รับความยินยอมและเห็นชอบของชุมชนและเมื่อรัฐดำเนินดำเนินการใดที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากชุมชน ชุมชนมีสิทธิฟ้องรัฐได้ (มาตรา 67 วรรคสอง) เป็นต้น
ปรัชญากฎหมายนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence)
ปรัชญากฎหมายนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา ที่แอบแฝงผสมผสานกับแนวความคิดกฎหมายธรรมชาติ, ปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย, ปรัชญากฎหมายประวัติศาสตร์และปรัชญากฎหมายอื่นๆ ในเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ที่ถูกกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่เปรียบเสมือนกฎหมายเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมเพื่อให้เกิดดุลยภาพ ขณะเดียวกันก็จะพยายามเน้นเรื่องการศึกษาความเป็นจริงเกี่ยวกับกฎหมายที่ปรากฏเป็นนิติศาสตร์เชิงเสรีนิยม เพราะเน้นแนวคิดของคนที่ยังมองกฎหมายในแง่บวกและมีความหวังที่จะแก้ไขปัญหาสังคมโดยกฎหมาย
รัฐธรรมนูญ 2550 ได้นำแนวคิดปรัชญานิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาเข้มและข้นมากกว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ได้แก่
ก. การทำให้แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมีคงความชัดเจน รอบด้านและผูกพันรัฐมากกว่าเดิม เช่น มีการแยกแยะหมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐครอบคลุมทุกด้านอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง ด้านศาสนา สังคม การสาธารณสุข การศึกษาวัฒนธรรม ด้านกฎหมายและการยุติธรรม ด้านการต่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์ ทรัพย์สินทางปัญญาและพลังงานและด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน (หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 75-87)
ข.กำหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในเรื่องที่สำคัญเพิ่มขึ้น เช่น รัฐต้องพัฒนาระบบงานภาครัฐโดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (มาตรา 78 (4)) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (มาตรา 83) คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร (มาตรา 84 (8)) จัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและมีให้สาธารณูปโภคดังกล่าวตกอยู่ในความผูกขาดของเอกชน (มาตรา 84 (8)) เด็ก เยาวชนและบุคคลในครอบครัวได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นในการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา ตามศักยภาพและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (มาตรา 52 วรรคหนึ่ง) เป็นต้น
วิเคราะห์ปรัชญากฎหมายที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2550
รัฐธรรมนูญ 2550 มีชัยชนะหรือความสำเร็จ (ในระดับหนึ่งหรือกาลเทศะหนึ่ง) ต่อการปฏิรูปการเมืองการปกครองของไทย เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เริ่มจากการแสวงหาสิ่งที่ถือเป็นบรรทัดฐานแห่งความถูกต้องหรือเกณฑ์มาตรฐานที่จะใช้เป็นตัวตรวจสอบของลักษณะของกฎหมายที่ดี ที่ทำให้เกิดความสุขเป็นดังเป้าหมายที่สำคัญทางจริยธรรมของคนหมู่มาก ในการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับการนิติบัญญัติซึ่งชี้ขาดของกฎหมายที่ควรจะเป็น ตามแนวคิดแบบอรรถประโยชน์นั้นก็ได้เป็นหลักการที่สำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายใหม่มีความเป็นธรรมในด้านมนุษยธรรมมากขึ้น แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ย่อมไม่เป็นสิ่งสมบูรณ์พร้อมในตัวมันเองดังมีผู้วิจารณ์ถึงความไม่เป็นเอกภาพทางความคิด
รัฐธรรมนูญ 2550 ได้มีการแยกเป็นหมวดหมู่ที่มีความสัมพันธ์กันสามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญได้ดี คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน เน้นเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น
1.ลดปัญหาความขัดแย้งของหลักการมีส่วนร่วมหรือการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน รวมไปถึงหลักการมีส่วนร่วมการดูแล รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนตามแนวคิดปรัชญากฎหมายที่ผสมผสานระหว่างสำนักกฎหมายธรรมชาติผสม สำนักกฎหมายประวิติศาสตร์และสำนักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา
2.ลดความขัดแย้งในตัวมันเองโดยโดยฉพาะในประเด็นสิทธิชุมชน การให้ชุมชนมีสิทธิฟ้องรัฐที่ดีขึ้นในกรณีที่ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้ผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ เว้นแต่จะได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) (มาตรา 67 วรรคสอง) ดังเห็นได้จากคดีสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด เป็นต้น ตามแนวคิดปรัชญากฎหมายที่ผสมผสานระหว่างสำนักกฎหมายธรรมชาติผสม สำนักกฎหมายประวิติศาสตร์และสำนักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา
3. การเน้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (มาตรา 279, 280) ตามแนวคิดปรัชญากฎหมายสำนักฎหมายอรรถประโยชน์
4. การให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนโดยเฉพาะประเด็นการให้สิทธิประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นมีผลในทางปฏิบัติได้ง่ายกว่าการให้สิทธิประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2540 โดยพิจารณาได้จาก การลดจำนวนประชาชนจากเดิมรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดไม่น้อยกว่า 50,000 คน รัฐธรรมนูญ2550 ลดลงเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ นอกจากนั้นยังให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย (เฉพาะร่างพระราชบัญญัติเท่านั้นไม่รวมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291) โดยให้มีผู้แทนประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมดเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญด้วย และยังให้สิทธิประชาชน 50,000 คน เข้าชื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (มาตรา 291) ตามแนวความคิดปรัชญากฎหมายที่ผสมผสานระหว่างปรัชญาสำนักกฎหมายธรรมชาติกับสำนักกฎหมายปฏิฐานนิยม
แต่อย่างไรก็ตามการเสนอร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2550 ยังคงหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งต้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าสภาผู้แทนราษฎรต้องรับร่างกฎหมายที่เสนอมาโดยประชาชนไว้พิจารณาเสมอไปหรือไม่ หรือสามารถปฏิเสธไม่รับร่างกฎหมายได้ และถึงแม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรต้องรับร่างกฎหมายที่เสนอมาโดยประชาชน แต่ท้ายที่สุดแล้วรัฐสภาสามารถปฏิเสธร่างกฎหมายที่เสนอมาโดยประชาชนในการพิจารณาวาระสุดท้ายได้
5. รัฐธรรมนูญ 2550 ลดการตัดสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุผลนั้น ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นไปตามหลักนิติรัฐ (Legal State) (มาตรา 29) น้อยกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และลดบทบาทแนวคิดปรัชญากฎหมายปฏิฐานนิยม เพิ่มสิทธิเสรีภาพตามปรัชญากฎหมายธรรมชาติ มากขึ้นกว่าเดิม คือ รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ประชาชนที่มีหน้าที่ไปเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะเสียสิทธิดังต่อไปนี้
1)ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ทุจริตเลือกตั้ง
2) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
3) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่ได้ลดปัญหาความขัดแย้งในทางความคิดในเชิงปรัชญากฎหมายในบางประเด็น เช่น
1.หลักการของการออกแบบระบบสถาบันทางการเมือง เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นั้นให้สิทธิดีกว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติไม่จำเป็นต้องเป็นวุฒิปริญญาตรี นับเป็นการให้สิทธิของประชาชนที่ดีเป็นระบอบประชาธิปไตย
แต่อย่างไรก็ตามได้มีผู้วิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 นั้นออกแบบระบบสถาบันทางการเมืองสร้างปัญหาหรือความขัดแย้งความสับสนมากขึ้น หรือมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ หรือเสมอภาคต่อกฎหมายตามหลักนิติธรรม (The Rule of Law) หรือไม่ เช่น ในเรื่องที่มาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนในแต่ละจังหวัดใช้สิทธิไม่เท่าเทียมกัน บางจังหวัดใช้สิทธิได้เบอร์เดียว หรือบางจังหวัดใช้สิทธิได้ 2 เบอร์ หรือบางจังหวัดใช้สิทธิได้ 3 เบอร์ หรือแม้กระทั่งที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ออกแบบให้ใช้อำนาจมาก แม้กระทั่งอำนาจถอดถอนตัวแทนของประชาชนที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน แต่ที่มา ส.ว. บางส่วนไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มาจากการแต่งตั้งนั้นชอบด้วยธรรมตามหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ที่เน้นไปในทางปรัชญากฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) หรือไม่ หรือเป็นไปตามแนวทางหลักนิติรัฐ (Legal State) ที่เน้นปฏิฐานนิยม ของเฮช แอล เอ ฮาร์ท (H.LA. Hart) ที่ต้องการให้ผู้ปกครองหรือผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนนั้นต้องมีที่มาและการใช้อำนาจตามกระบวนวิถีทางที่ชอบธรรมตามความต้องการของประชาชนส่วนรวมหรือไม่เป็นเรื่องที่น่าขบคิด
2. หลักการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีการอ้างถึงปรัชญาพื้นฐานของหลักนิติรัฐ (Legal State) หลักนิติธรรม (The Rule of Law) ที่มีลักษณะเป็นการปกครองแบบนิติรัฐโดยยึดหลักนิติธรรมซึ่งเป็นการส่งเสริมหลัก ความศักดิ์สิทธ์ของกฎหมาย ความเป็นอิสระของตุลาการ (ศาล) การพิทักษ์ปกป้องรักษาสิทธิและเสรีภาพของราษฎร ตลอดจนการ ส่งเสริมสนับสนุนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และประการสุดท้ายคือการส่งเสริมการปกครองโดยยึดถือหลักกฎหมายเป็นใหญ่และเพื่อพัฒนาสังคมเสรีประชาธิปไตย เพื่อปกป้องไม่ให้พวกเผด็จการหรือทรราชย์ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ดังนั้น จึงเห็นว่าการยอมรับหลักนิติธรรมและเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะคำนึงถึงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและ ฝ่ายตุลาการว่ามีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับหลักนิติธรรม แต่อย่างไรก็ตามได้มีการวิพากษ์ถึงหลักนิติรัฐที่เน้นปรัชญาปฏิฐานนิยมของ เฮช แอล เอ ฮาร์ท (H.LA. Hart) หลักนิติธรรมที่เน้นปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ว่ามีความสับสนว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common law) ที่มีปรัชญาหลักนิติธรรม อยู่เบื้องหลัง กับระบบกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law) ที่มีปรัชญาหลักนิติรัฐ อยู่เบื้องหลัง ถึงแม้จะบอกว่าใช้ระบบซิวิลลอว์ แต่ก็ได้รับอิทธิพลระบบกฎหมายคอมมอนลอว์อยู่มาก ทำให้เรานำหลักนิติรัฐกับหลักนิติธรรมมาใช้และนำมาอธิบายจนเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นหลักเดียวกัน ทั้งที่มีที่มาและแนวคิดปรัชญาที่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น หลักนิติรัฐมีต้นกำเนิดจากประเทศเยอรมัน มีหลักการที่สำคัญ คือ รัฐจะกระทำการใดๆได้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ (มาตรา 29) ส่วนหลักนิติธรรมมีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษมีหลักการที่สำคัญคือ รัฐต้องกระทำหรือบังคับใช้กฎหมายด้วยความเสมอภาคทางกฎหมาย (มาตรา 3 มาตรา 30) เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาในทางความคิดทางปรัชญาได้
3. หลักการออกแบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบทรัพย์สิน การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ การถอดถอนจากตำแหน่ง การดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้นมีความสับสนทางความคิดเชิงปรัชญาในประเด็นที่สำคัญ คือ การตรวจสอบทรัพย์สิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้นในรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้ปปช.ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ปปช.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แทนศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลที่ว่าให้มีโทษทางอาญาด้วย จึงควรให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้วินิจฉัยพิจารณา ผู้เขียนเห็นว่าหลักการนี้มุ่งเน้นไปในทางปรัชญากฎหมายปฏิฐานิยม (Positive Law) ที่ต้องการมีสภาพบังคับที่มีโทษทางอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น ไม่รายงานทรัพย์สินหรือ รายงานทรัพย์สินไม่ตรง หรือรายงานทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ให้พ้นจากตำแหน่งและตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีและมีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (มาตรา 263,264) แต่อย่างไรก็ตามการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้วินิจฉัยพิจารณาแล้ว นั้นยังเปิดให้มีการนำเสนอข้อมูลใหม่ (เปรียบเสมือนเป็นการอุทธรณ์) ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภายใน 30 วัน และเมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีการับพิจารณาและมีการวินิจฉัยกลับให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้นั้นไม่มีความผิด ไม่มีโทษทางอาญา แต่การเสียสิทธิที่ต้องพ้นจากตำแหน่งและโดนตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีนั้นจะทำอย่างไร เป็นไปตามหลักนิติธรรมที่เน้นปรัชญากฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) ต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้นั้นที่โดนตัดสิทธิหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่น่าขบคิดอีกประเด็นหนี่ง
4. ประเด็นการเน้นปรัชญากฎหมายปฏิฐานนิยมเข้มและข้นกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 โดยเฉพาะในประเด็นที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 309 คือ การยอมรับการกระทำการใดๆที่รัฐธรรมนูญ 2549 (ฉบับชั่วคราว) ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่ากอ่นหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ (รัฐธรรมนูญ 2550) ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งแสดงว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 นั้นมีความหมายเท่ากับการตรารัฐธรรมนูญขึ้นภายใต้หลักการที่ว่า หากเป็นประกาศ เป็นคำสั่งหรือเป็นการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติแล้ว แม้ในอนาคตข้างหน้า เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้แล้ว หากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติ แทนที่ประกาศหรือคำสั่งคณะปฏิวัตินั้นจะสิ้นผลไป การณ์กลับกลายเป็นว่าในกรณีเช่นนี้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญต้องหลีกทางให้ประกาศของคณะปฏิวัติ ทำให้ประเทศไทยยังคงถูกครอบงำไปในทางแพร่งอำนาจนิยม เพราะเหตุมีการรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญเมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองได้ ก็ย่อมใช้อำนาจปกครองประเทศในระบอบปฏิวัติ มีสิทธิยกเลิกรัฐธรรมนูญ มีสิทธิจะออกกฎหมายได้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่ควรจะมีขึ้นในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ควรจะมีแต่การยกเลิกกฎหมายตามวิถีทางรัฐธรรมนูญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ย่างไรก็ตามตราบใดที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังถูก “บิดพลิ้ว” เป็นประชาธิปไตยแบบธุรกิจทางการเมือง ที่นักการเมืองส่วนใหญ่นำเอาอำนาจทางการเมืองที่ได้มาเพื่อประกอบธุรกิจและแสวงหาผลประโยชน์อย่างที่ผ่านมา “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย” โดยหลักการ ก็จะได้รับการ “หยุดพัก” คือ การปฏิวัติรัฐประหารก็จะเกิดขึ้นมาอีก ได้
ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวปรัชญากฎหมายปฏิฐานนิยมที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 กับ 2550 พบว่ารัฐธรรมนูญ 2550 (โดยเฉพาะมาตรา 309) เน้นความสมบูรณ์ในธรรมชาติของกฎหมายเชื่อมโยงกับสภาพความเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือผู้ถืออำนาจปกครองสูงสุดในแผ่นดิน ตามแนวคิดปรัชกฎหมายปฏิฐานิยม ของ จอห์น ออสติน (John Austin) และ ฮันส์ เคลเซ่น (Hans Kelsen) โดยไม่มองหรือสนใจว่าผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองนั้นเข้าสู่อำนาจนั้นชอบธรรมหรือไม่ และที่สำคัญรัฐธรรมนูญ 2550 ได้มีแนวคิดการตรารัฐธรรมนูญที่อยู่บนพื้นฐานแก้ปัญหา “คน” ไม่ได้แก้ปัญหา “ระบบ” คือ เอาปัญหา “คน” มาแก้ปัญหา “ระบบ” นับว่าเป็นการกระทำที่ถอยหลังเข้าคลองไม่ใช่เป็นการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตยเท่าใดนัก
ข้อวิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2550 ข้างต้นล้วนเป็นเรื่องที่น่ารับฟังไว้เสมอโดยเฉพาะการชี้สภาพที่เป็นจริงของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นเหมือนภาพตัดต่อที่ไม่กลมกลืน ซึ่งความจริงตามเจตนารมณ์ของผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540และรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นภาพเขียน (แนวคิดปรัชญากฎหมายและอุดมการณ์ต่าง ๆ) ซึ่งรวมกันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ภาพแห่งใดแห่งหนึ่งการจัดภาพเขียนในพิพิธภัณฑ์ ผู้จัดไม่ได้จัดให้ภาพทุกภาพอยู่ในลักษณะที่สมดุลกันหรือได้สัดส่วนกันแต่ประการใดทั้งสิ้นตรงกันข้ามจะจัดให้ภาพแต่ละภาพโดดเด่นขึ้นมามีคุณค่าในตัวของมันเองตามสายตาของผู้ชม
กล่าวในแง่ของนิติปรัชญาภาพลักษณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ดูไม่แตกต่างจากภาพลักษณ์ของกฎหมายทั่วไปในความคิดของนักทฤษฎีกฎหมายกลุ่มหนึ่งในตะวันตกปัจจุบันที่เรียกว่า กลุ่มนิติศาสตร์วิพากษ์
ปรัชญาแนวคิดกลุ่มนิติศาสตร์แนววิพากษ์ (Critical Legal Studies /CLS)
กลุ่มนิติศาสตร์แนววิพากษ์ (CLS) เป็นกลุ่มนักทฤษฎีกฎหมายฝ่ายก้าวหน้าในอเมริกาช่วง ค.ศ. 1970 ที่ศึกษาวิพากษ์ความเป็นจริงของกฎหมายในโลกเสรีนิยมโดยรับอิทธิพลทางความคิดก้าวหน้า จากทั้งฝ่าย Neo-Marxism,Critical School,Existentialism หรือPostmodernism ในทรรศนะของ CLS ความขัดแย้งระหว่างปัจเจกชนและการคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น (Altruism) หรืออีกนัยหนึ่งความขัดแย้งพื้นฐานระหว่างปัจเจกชนและชุมชน เป็นสิ่งที่ไม่อาจแก้ตกได้ภายในกรอบแห่งทฤษฎีกฎหมาย อันโยงไปถึงสภาพความขัดแย้งระดับลึกในตัวระบบเสรีนิยม เสรีภาพในทางสัญญา เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่นักคิดกลุ่มนิติศาสตร์แนววิพากษ์ได้หยิบขึ้นมาวิเคราะห์ให้เห็นถึงลักษณะของกฎหมายในสังคมเสรีนิยมที่มิได้เป็นไปดังความเข้าใจที่มีต่อกฎหมายในปัจจุบัน เช่น สัญญาจ้างแรงงาน ระหว่างกรรมกรผู้ยากไร้กับนายทุนผู้มั่งคั่งย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่าทั้งสองฝ่ายมีความเท่าเทียมกฎหมายสัญญาจึงเป็นหนึ่งอุดมการณ์ทางสังคมที่ปิดบังการกดขี่เอารัดเอาเปรียบในสังคมไว้
และที่สำคัญนักนิติศาสตร์แนววิพากษ์ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวคิดหลักนิติรัฐ (Legal State) หรือหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ไว้หลายประเด็น คือ
ประเด็นแรก มีการมองว่าหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในสังคมเสรีประชาธิปไตยที่เน้นเสรีภาพของปัจเจกชนในท่ามกลาง ความหลากหลายหรือพหุนิยมในทัศนคติทางศีลธรรมและการเมือง (ที่มีทั้งแนวความคิดปรัชญากฎหมายธรรมชาติกับแนวคิดปรัชญากฎหมายปฏิฐานนิยม ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของผู้เขียนเอง) การขาดแบบวิถีการให้เหตุผลทางกฎหมายสามารถใช้ทัศนคติส่วนตัวทางศีลธรรมและการเมืองเบื้องหลักการใช้อำนาจทางกฎหมาย (ดั่งเช่น คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3 – 5/2550 เป็นต้น ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นผู้เขียนเอง)
ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องความขัดแย้ง (Contradictions) สับสนในแนวคิดทางกฎหมายแบบเสรีนิยมที่ยากจะปรับสมานได้กับสังคมบริบทในแต่ละสังคม (เช่น สังคมตะวันตกกับสังคมตะวันออก ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นผู้เขียนเอง) จนนำไปสู่สภาพความไม่เด็ดขาดไม่แน่นอนทางกฎหมาย
ประเด็นที่สาม แนวคิดเรื่องหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรมเป็นเครื่องมือของการกดขี่และการครอบงำทางความคิด เป็นมายาภาพและตำนานนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อปิดบังซ่อนเร้นไม่เสมอภาคทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานโดยชนชั้นนำ นายทุนที่ครอบงำสังคมอยู่ (ที่มองผลประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม (Conflice of interest) มากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของผู้เขียนเอง)
บทสรุป เมื่อวิเคราะห์ประเด็นเชิงปรัชญากฎหมาย ผู้เขียนเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นมีความขัดแย้ง มีความไม่แน่นอนในตัวธรรมชาติกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่ดูเหมือนแน่นอนมั่นคงในเชิงหลักการ แต่แท้จริงเป็นเพียง (ผลผลิต) ผลลัพธ์ชั่วคราวและไม่นอนของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ระหว่างกลุ่มขัดแย้งในสังคมในลักษณะที่มีการประนีประนอมในเรื่องผลประโยชน์กลายเป็นระบบเศรษฐกิจอุปถัมป์ แต่อย่างไรก็ตามได้ปรับเปลี่ยนแนวความคิดมาเป็นความขัดแย้งกันต่างๆในเรื่องความยุติธรรมความเสมอภาคกันตามกฎหมายกับการบังคับใช้กฎหมาย (ใช้ปรัชญากฎหมายปฏิฐานนิยมเป็นหลัก) การให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น (เน้นปรัชญากฎหมายธรรมชาติ) การให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (เน้นปรัชญากฎหมายประวัติศาสตร์) รวมไปถึงเรื่องคุณค่า ความดี จริยธรรมของนักการเมือง (เน้นปรัชญากฎหมายอรรถประโยชน์) หรือการเน้นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการจากรัฐ (เน้นปรัชญากฎหมายนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา) เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นสิ่งที่ผสมผสานด้วยหลักการและอุดมคติที่ขัดแย้งที่ไม่อาจแก้ไขให้จบลงได้เด็ดขาด โดยที่ลึกลงไปภายใต้ความขัดแย้งนี้ คือ ความขัดแย้งอีกระดับที่มีอยู่ในหมู่พวกเราและภายในตัวเราเอง เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ที่ขัดแย้งกันในเรื่องความเป็นมนุษย์และความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ความขัดแย้งในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคล เช่น การบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดงนั้นเท่าเทียมกันหรือไม่ เป็นต้น รวมทั้งความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งต่อความคาดหวังของประชาชนรากหญ้ากับเรื่องความเป็นธรรมและความเสมอภาคกันในสังคม นับเป็นเรื่องที่น่าคิดวิเคราะห์กับการแก้ปัญหาความความขัดแย้งดังกล่าวข้างต้น ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใดในอนาคตของประเทศไทยที่ดูแล้วยังมืดมัวแต่ไม่มือสนิท
บรรณานุกรม
หนังสือ
จรัญ โฆษณานันท์ “นิติปรัชญา” กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2532
------------------- “นิติปรัชญา” กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยรามคำแหง,พิมพ์ครั้งที่6,2538
-------------------- “สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ปรัชญา กฎหมายและความเป็นจริงทาง
สังคม” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน,2545
------------------ “นิติปรัชญา” กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง,2545
------------------- “รัฐธรรมนูญ 2540 “จากศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ “สู่” ธัมมิกสิทธิ
มนุษยชน” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน ,2546
เจริญ คัมภีรภาพ “วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
พ.ศ. ....” รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซด์ pub-law.net/ กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 2546
ธีรยุทธ บุญมี “ประชาธิปไตยตรวจสอบ” ในวิทยา ว่องกุล (บรรณาธิการ) “จุดจบรัฐชาติ....
ชุมชนธนาธิปไตย” กรุงเทพฯ: โครงการวิถีทรรศน์,บริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชซิ่ง จำกัด (มหาชน) 2540
บรรเจิด สิงคะเนติ บรรณาธิการ “ปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 พรรคการเมืองทางเลือกที่สามครั้ง
ใหม่ ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน,2547
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ “เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา
จักรไทย พ.ศ.2540 เล่ม 1” กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์มติชนร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ,2546
สมชาย ปรีชาศิลปกุล “นิติปรัชญาทางเลือก” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน ,2546
สิทธิกร ศักดิ์แสง “การยกเลิกกฎหมายนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญขัดต่อหลักนิติรัฐหรือไม่”
รวมบทความ “ศาสตร์แห่งการตีความกฎหมาย” กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา ,2552
เอกสารและวารสาร
พิเชษฐ์ เมาลานนท์ และนิลุบล ชัยสิทธิพรวงศ์ “สิทธิในการพัฒนาปฏิภาณสากลสหประชา
ชาติ” วารสารอัยการปีที่ 19 ฉบับที่ 22 สิงหาคม 2539
สมเกียรติ มีธรรม “ธรรมรัฐในทรรศนะ “คานธี-พุทธทาส” หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน,วันพฤหัสบดี,16เมษายน 2548
สิทธิกร ศักดิ์แสง “สิทธิชุมชน: กับการรับรองสิทธิเสรีภาพในการจัดการทรัพยากรป่าไม้
ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540” วารสารรัฐสภาสาร ปีที่ 54 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม พ.ศ. 2549
............................ “การปกครองแบบนิติรัฐที่หลักนิติธรรมของประเทศไทย” วารสารรัฐสภาสาร
ปีที่ 57 ฉบับที่ 4 เมษายน 2552
กฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
พ.ศ.2541
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
พ.ศ.2550