อำนาจหน้าที่ของศาลในประเทศไทย ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ประกอบด้วย 4 ศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลทหาร
ศาล ประกอบด้วย 在 sittikorn saksang Facebook 的精選貼文
วิเคราะห์การยกเลิกรัฐธรรมนูญ : กรณีศึกษาการยกเลิกรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในอดีต-ปัจจุบัน
สิทธิกร ศักดิ์แสง*
จากที่ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าในตำราหลายเรื่อด้วยกันและได้เขียนในบทความและหนังสือ เอกสารคำสอน ก็ยังพบว่ายังมีความบกพร่องในการสื่อและการอธิบายของความกระจ่างชัดในเรื่องของการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้เขียนมีความมุ่งมั่นที่จะทำการศึกษาค้นคว้าหาข้อสรุปเกี่ยวกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญเพื่อทำความเข้าใจให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งพิจารณาศึกษาพบว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการยกเลิกรัฐธรรมนูญตามวิถีทางรัฐธรรมนูญกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนมุ่งหมายที่จะศึกษาวิเคราะห์การยกเลิกรัฐธรรมนูญแต่ละกรณีแล้วจะทำการวิเคราะห์ต่อมาว่าประเทศไทยได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการใดบ้างในรัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังนี้
วิเคราะห์หลักทั่วไปในการยกเลิกรัฐธรรมนูญ
เมื่อพิจารณาถึงหลักทั่วไปการยกเลิกรัฐธรรมนูญ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ หมายถึง การกระทำให้รัฐธรรมนูญนั้นสิ้นสุดไม่ให้นำมาบังคับใช้อีกต่อไปด้วยวิธีการ 2 วิธีการ กล่าวคือ วิธีการที่ 1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับด้วยวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับเดิมกับวิธีการที่ 2 การยกยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการปฏิวัติกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหาร ดังนี้
1.การยกเลิกรัฐธรรมนูญตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ
การยกเลิกรัฐธรรมนูญตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำให้รัฐธรรมนูญนั้นสิ้นสุดด้วยวิถีทางรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญมอบให้มีการกระทำในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับมอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ขึ้นมาแทนรัฐธรรมนูญฉบับเดิม แยกอธิบายได้ดังนี้
1.1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (Revision) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไม่ว่าโดยการตัดข้อความเดิมออก การแก้ไขถ้อยคำหรือข้อความเดิมที่มีอยู่แล้วหรือโดยการตัดข้อความเดิมออกหรือโดยการเพิ่มเติมข้อความใหม่เข้าไป ซึ่งอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า “อำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็น “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ส่วนองค์กรที่ลงมือแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นถือว่ามี “อำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญ” ซึ่งการที่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะการมีรัฐธรรมนูญก็เหมือนกับกฎหมายอื่นโดยทั่วไปที่อาจล้าสมัย หรืออาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในเวลาต่อมา หรือการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ก็เท่ากับเป็นการระบายความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของประชาชนในแต่ละสมัยให้ปรากฏออกมาแทนที่จะอัดอั้นไว้ หากไม่ยอมให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้เมื่อประชาชนเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง อาจเป็นเหตุให้นำไปสู่การปฏิวัติ (Revolution) หรือรัฐประหาร (Coup d’ Etate) เพื่อล้มเลิกรัฐธรรมนูญนั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงมีความจำเป็นที่ต้องให้มี การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ) ได้
1.1.1 วิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีข้อพิจารณาวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อยู่ 2 ลักษณะ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างง่ายกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างยาก แต่ในที่นี้จะขอวิเคราะห์อธิบายรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก ซึ่งมีวิธีการแก้ไขการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญบางส่วนบางมาตรา ซึ่งประเทศต่างๆ ได้มีกระบวนการหรือกำหนดให้มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญบางส่วนหรือบางมาตรา และจะเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศที่กำหนดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างยาก ซึ่งในทางทฤษฎีถือว่าเป็นอำนาจสำคัญในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญมอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่า “อำนาจที่ได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญ” ดังนี้
1.1.1.1 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
การแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในทางกฎหมายหรือในทางทฤษฎีก็คือ เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ เช่นกัน กล่าวคือ เมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทนฉบับฉบับเก่า เช่น อาจจะมอบให้สภานิติบัญญัติเป็นผู้ดำเนินการแก้ไข หรือตั้งองค์กรพิเศษ เช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาดำเนินการแก้ไข หรือ อาจประชาชนผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
1.1.1.2 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญบางส่วนบางมาตรา
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญบางส่วนบางมาตรา รัฐธรรมนูญเกือบทุกประเทศจะกำหนดให้มีกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่เห็นว่าล้าสมัยหรือมาตราที่ไม่สามารถจะรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ หรืออาจจะไม่เหมาะสมในกระบวนการบังคับใช้ ก็จะสามารถกำหนดให้ เช่น กำหนดรัฐสภา หรือ องค์กรพิเศษ หรือ ประชาชน ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้
1.1.2 กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
การควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อาจกระกระทำได้ตามกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้
1.2.1.1 ผู้มีสิทธิเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ผู้มีสิทธิเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ส่วนมากจะเป็นผู้ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภา (สภานิติบัญญัติ) พิจารณา ซึ่งได้แก่ ประมุขของรัฐ สมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และประชาชน ดังนี้
1.การให้สิทธิประมุขของรัฐเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิประมุขของรัฐเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศอินเดีย การเสนอขอแก้ไขของประมุขของรัฐจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นต้น
2. การให้สิทธิสมาชิกรัฐสภาเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิสมาชิกรัฐสภา (สมาชิกสภานิติบัญญัติ) เป็นผู้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ต้องมีสมาชิกจำนวนหนึ่งรับรองด้วย เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศบัลแกเรีย กำหนดให้มีสมาชิกรัฐสภาจำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้รับรอง รัฐธรรมนูญของประเทศอียิปต์กำหนดให้มีสมาชิกรัฐสภาจำนวน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เป็นต้น
3. การให้สิทธิคณะรัฐมนตรีเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เช่น ประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นต้น
4. การให้สิทธิประชาชนเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิประชาชน เป็นผู้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศสวิสเซอร์แลนด์กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 100,000 คนขึ้นไป หรือในประเทศเยอรมนีให้สิทธิแก่ประชาชนเป็นผู้เข้าชื่อเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลง รัฐธรรมนูญนั้น ในแต่ละมลรัฐของประเทศเยอรมนีนั้นจะต้องเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยคำหรือเพิ่มเติมถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ จะต้องเป็นการแก้ไขถ้อยคำโดยชัดแจ้ง ซึ่งการให้สิทธิแก่ประชาชนให้เสนอขอแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญแห่งมลรัฐโดยวิธีการเสนอร่างกฎหมายของประชาชน (Initiative Process) ได้มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของหลายมลรัฐ อาทิเช่น มลรัฐBrandenburg มลรัฐThueringen มลรัฐSachsen มลรัฐNiedersachsen และมลรัฐSchteswig-Holstein เป็นต้น โดยมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ จะต้องมีประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งร่วมกัน เข้าชื่อริเริ่มเสนอร่างกฎหมายตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญของแต่ละมลรัฐกำหนด เป็นต้น
1.2.2.2 ผู้ดำเนินการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
เมื่อพิจารณาศึกษาจะพบว่าในประเทศต่างได้กำหนดให้ผู้ดำเนินการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ส่วนมากกำหนดให้รัฐสภา (ฝายนิติบัญญัติ) เป็นผู้ดำเนินการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามบางประเทศก็ยังกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสนอแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1. รัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ประกอบด้วยผู้แทนของประชาชนได้เลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ถ้าหากเป็นระบบสองสภา (สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา) สภาทั้งสองจะประชุมร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐ) จะต้องนำไปขอความเห็นชอบจากรัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ของทุกมลรัฐ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากทุกมลรัฐแล้วอาจดำเนินการด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง คือ ให้รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบหรือเมื่อรัฐสภาของมลรัฐ (ฝ่ายนิติบัญญัติของมลรัฐ) จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ร้องขอ ให้รัฐสภาจัดตั้งสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ หรือเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ดำเนินไปเสร็จแล้วต้องขอให้ รัฐสภาของมลรัฐ (ฝ่ายนิติบัญญัติของมลรัฐ) จะจัดตั้งขึ้นลงมติให้ความเห็นชอบมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ในประเทศฝรั่งเศส ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามลำดับ และถ้าประธานาธิบดีเห็นสมควร อาจขอให้ประชาชนออกเสียงแสดงประชามติว่าเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้
ข้อสังเกต การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆนั้นจะไม่นิยมจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือคณะกรรมการพิเศษเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเหมือนกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่นิยมมอบให้รัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) เป็นผู้ดำเนินการแก้ไข
2. การให้ประมุขของรัฐเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งการให้ประมุขของรัฐเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หน้าที่ของประมุขของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็คือ การลงนามในรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายประเทศได้ให้อำนาจประมุขของรัฐที่จะลงนามในรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้ เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสได้ให้อำนาจประมุขของรัฐที่จะวินิจฉัยว่าสมควรให้ประชาชนลงคะแนนเสียงแสดงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในเมื่อคณะรัฐมนตรีร้องขอหรือจะส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นให้รัฐสภาพิจารณาใหม่ก็ได้ เป็นต้น
3.การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กระทำในลักษณะของการให้สิทธิประชาชนออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยในร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งฉบับหรือบางส่วน ดังนี้
1) การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ (Total Revision) เช่น การเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยยกเลิกฉบับเก่าและยกร่างฉบับใหม่ซึ่งในขั้นตอนนี้ข้อเสนอของประชาชนในการขอแก้ไขเพิ่มเติมจะถูกส่งไปยังประชาชนเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในระดับชาติในเบื้องต้นก่อน ว่าเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามคำขอดังกล่าวหรือไม่ หากเสียงข้างมากของประชาชนลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว และเมื่อได้ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นโดยสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่แล้ว ก่อนที่จะมีการประกาศใช้จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาให้ประชาชนทั้งประเทศออกเสียงประชามติ เพื่อให้ความเห็นชอบโดยเสียงข้างมากของประชาชน เป็นต้น
2) การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพียงบางส่วน (Partial Revision) การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพียงบางส่วนโดยประชาชนสามารถที่จะริเริ่มเสนอได้ 2 รูปแบบ คือ การริเริ่มเสนอแก้ไขโดยจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและการริเริ่มเสนอแก้ไขโดยเสนอเพียงหลักการๆทั่วไป ดังนี้
(1) การริเริ่มเสนอแก้ไขโดยจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ผู้ริเริ่มก่อการจะต้องจะนำเสนอเป็นบทบัญญัติที่มีความชัดเจนในส่วนของรัฐธรรมนูญที่ต้องการแก้ไขเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา โดยในขั้นตอนนี้สภาไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาใดๆในร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเสนอนั้นได้ แต่สภาสามารถที่จะเสนอทางเลือกอื่นเพื่อให้ประชาชนพิจารณาควบคู่กันในการออกเสียงประชามติในเบื้องต้นได้ หากปรากฏว่าผลของการลงประชามติเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะตกไป และรัฐสภาก็มีหน้าที่จะต้องดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามข้อเสนอที่ได้รับความเห็นชอบนั้น และจะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาแก้ไขเสร็จแล้วนั้นไปให้ประชาชนทั้งประเทศออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง (Final Vote) ซึ่งในขั้นตอนนี้กฎหมายกำหนดให้จะต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ อาจจะเห็นชอบแบบเสียงข้างมากกึ่งหนึ่งหรือแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด (Double majority)หรือเห็นชอบแบบเสียงข้างมากแบบธรรมดา ก็ได้แล้วแต่ละประเทศกำหนด
(2) การริเริ่มขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมโดยเสนอเพียงหลักการทั่วไป ผู้เริ่มก่อการไม่จำเป็นจะต้องจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาเช่นเดียวกันกับกรณีแรก แต่ผู้ริเริ่มก่อการสามารถที่จะเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะของข้อเสนอทั่วไป (General proposition) เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาได้ กล่าวคือ เป็นการบรรยายสิ่งที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงและนำเสนอต่อสภาเท่านั้น และเมื่อรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบกับข้อเสนอทั่วไปของประชาชน รัฐสภาก็มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นให้เป็นไปตามข้อเสนอของประชาชน และเมื่อยกร่างเสร็จแล้วก่อนที่จะมีการประกาศใช้จะต้องนำไปให้ประชาชนทั้งประเทศทำการออกเสียงประชามติยืนยันอีกครั้งหนึ่ง (Final Vote) โดยจะต้องได้รับคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบอาจจะให้ความเห็นชอบแบบเสียงข้างมากกึ่งหนึ่งหรือแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด (Double majority) หรือให้ความเห็นชอบแบบเสียงข้างมากธรรมดาก็ได้แล้วแต่ละประเทศกำหนด
1.1.3 ขั้นตอนกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ขั้นตอนกระบวนการการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยส่วนมากรัฐธรรมนูญเกือบทุกประเทศมอบให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งในหัวนี้จะกล่าวถึงขั้นตอนและกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา จะต้องมีสาระสำคัญของขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 3 วาระ ดังนี้
1. วาระที่ 1 รับร่างหลักการของร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกล่าวคือ การให้ความเห็นชอบรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และมีการเสนอบุคคล เพื่อดำเนินการยกร่างเพื่อเสนอเสนอให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป ในวาระที่ 2
2. วาระที่ 2 การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ได้มีการจัดทำร่างในวาระที่ 1 ซึ่งถือเป็นการพิจารณาเรียงมาตราในการลงมติการให้ความเห็นชอบกับการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของบุคคลที่ได้ตั้งขึ้น เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาลงมติเห็นชอบเป็นรายมาตรา
3. วาระที่ 3 การลงมติการให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อส่งให้ประมุขของรัฐประกาศใช้บังคับต่อไป กล่าวคือ เมื่อรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เสร็จสิ้นโดยการลงมติเห็นชอบ ให้นำเสนอต่อประมุขของรัฐลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
การลงมติทั้ง 3 กรณี ดังกล่าวข้างต้น จะต้องเป็นการลงมติที่มีจำนวนคะแนนเสียงมากเป็นพิเศษ เช่น 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม หรือ 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสภาเดียวหรือสองสภา แต่บางประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย และประเทศอิตาลี กำหนดว่าจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เป็นต้น
1.1.4 ระยะเวลาแก้ไขเพิ่มเติม
ระยะเวลาแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นการแก้ไขยาก บางประเทศได้กำหนดให้การแก้ไขต้องกระทำในระยะเวลานานพอสมควร เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศเบลเยี่ยม รัฐธรรมนูญของประเทศเนเธอร์แลนด์ และรัฐธรรมนูญของประเทศกรีซ ได้บัญญัติให้ยุบรัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ซึ่งทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว เมื่อประชาชนได้เลือกสมาชิกชุดใหม่ประกอบเป็นรัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) แล้ว รัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ใหม่จะต้องลงมติให้ความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ซึ่งถูกยุบไปแล้ว สภาใหม่จะแก้ไขประการใดก็ได้ เป็นต้น ส่วนรัฐธรรมนูญของประเทศเดนมาร์ก รัฐธรรมนูญของประเทศฟินแลนด์ และรัฐธรรมนูญของสวีเดน บัญญัติไปในทางที่ว่าจะยุบสภาเพื่อให้สภาลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ก็ได้ เป็นต้น นอกจากการบัญญัติให้รัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ซึ่งถูกยุบและรัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ที่ได้รับเลือกใหม่ร่วมกันพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีรัฐธรรมนูญบางประเทศที่กำหนดหลักการให้มีระยะเวลาคั่นกลางระหว่างการลงมติแต่ละครั้ง เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศอิตาลีได้บัญญัติให้การลงมติครั้งสุดท้ายต้องกระทำภายหลัง 3 เดือนของการลงมติครั้งที่สอง เป็นต้น
1.2 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยถือเป็นการจัดทำขึ้นมาใหม่ใช้แทนฉบับเดิม
เมื่อพิจารณาถึงการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยถือเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ใช้แทนฉบับเดิม นั้นอาจมีขึ้นได้ 2 กรณี ดังนี้
1.2.1 กรณีที่รัฐธรรมนูญฉบับเก่าไม่เหมาะสมกับสถานการณ์
ถ้าหากข้อความที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศหรือไม่สอดคล้องกับจิตใจมีจำนวนมาก หรือถ้าเป็นหลักสำคัญของรัฐธรรมนูญ เช่น ประชาชนเห็นควรเปลี่ยนระบบประมุขของรัฐจากกษัตริย์เป็นประธานาธิบดีหรือประธานาธิบดีเป็นกษัตริย์ หรือระบบสภาเดียวไม่เหมาะสมสมควรเปลี่ยนเป็นสองสภา หรือกลับกันเปลี่ยนจากสองสภาเป็นสภาเดียว ในกรณีเช่นนี้ผู้มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญในขณะนั้นจะจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ มีหลักการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศและสอดคล้องกับจิตใจของประชาชน จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้แทนฉบับเก่า
ข้อสังเกต การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะบัญญัติข้อความให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่กำลังใช้อยู่หรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ไม่ได้บัญญัติให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญในทางนิติศาสตร์ถือว่าเมื่อมีกฎหมายฉบับใหม่ที่สมบูรณ์และกฎหมายฉบับใหม่มีข้อความขัดหรือแย้งกับข้อความตามกฎหมายฉบับเก่า ตามหลักกฎหมายที่มาทีหลังย่อมยกเลิกกฎหมายที่มีมาก่อนได้
1.2.2 การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการรัฐธรรมนูญฉบับเดิมมีวัตถุประสงค์ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้แทนฉบับเดิม
การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการที่รัฐธรรมนูญฉบับเดิมมีวัตถุประสงค์ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้แทนฉบับเดิม ในกรณีมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิวัติหรือรัฐประหารแล้วมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใช้บังคับชั่วคราวเพื่อมีวัตถุประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
2. ยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ
การยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการปฏิวัติ กับการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหาร ดังนี้
2.1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการปฏิวัติ
คำว่าการปฏิวัติ (Revolution) เมื่อนำมาใช้ในความหมายในทางการเมือง หมายถึง พฤติการณ์ในการเลิกล้มหรือล้มล้างระบอบการปกครองหรือรัฐบาลซึ่งครองอำนาจอยู่นั้นแล้ว โดยใช้กำลังบังคับแล้วสถาปนาระบอบการปกครองหรือจัดตั้งรัฐบาลใหม่ การปฏิวัติจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามระบบเดิม ซึ่งอาจยกเลิกใช้แบบใหม่รื้อโครงสร้างเดิมเป็นส่วนใหญ่ เช่น จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ต้องมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นด้วยเพื่อให้มีหลักการและโครงสร้างการปกครองจากเดิมเปลี่ยนแปลงตามที่คณะปฏิวัติต้องการ และอาจออกกฎหมายมารับรองการกระทำของตนให้ชอบด้วยกฎหมายหรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญในเวลาต่อหลังจากการทำปฏิวัติเรียบร้อย เป็นต้น
2.2 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหาร
การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการคณะรัฐประหาร (Coup d’ Etate) คือ การใช้กำลังอำนาจเข้าเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐ ยึดอำนาจการปกครองของรัฐมาเป็นอำนาจของคณะรัฐประหาร เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะเพียงรัฐบาล หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการล้มล้างรัฐบาลที่บริหารปกครองรัฐในขณะนั้น แต่ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองหรือรัฐทั้งรัฐและไม่จำเป็นต้องมีการใช้ความรุนแรงหรือนองเลือดเสมอไป เมื่อคณะรัฐประหารเข้ามายึดครองอำนาจการปกครองประเทศจึงจำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดไว้ไม่ให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร จะมีความผิดในข้อหากบฏ เพื่อให้คณะรัฐประหารพ้นข้อหาของความผิดดังกล่าวได้นั้นต้องมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามความผิดนั้นยังเป็นความผิดอาญาอยู่ จึงต้องมีการดำเนินการ เช่น การออกกฎหมายนิรโทษกรรม หรืออาจกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าการกระทำของคณะรัฐประหารนั้นชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นต้น เพื่อให้ตนเองหรือคณะบุคคลดังกล่าวพ้นผิด
2.3 ความแตกต่างระหว่างการปฏิวัติกับการรัฐประหาร
เมื่อพิจารณาถึงการปฏิวัติกับการรัฐประหารจะพบว่าการปฏิวัติกับการรัฐประหารมีความแตกต่างกัน อยู่ 2 ลักษณะ คือ ความแตกต่างในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงกับความแตกต่างในลักษณะของผู้ก่อการ ดังนี้
2.3.1 ความแตกต่างในลักษณะของการเปลี่ยนแปลง
การปฏิวัติกับการรัฐประหารจะมีความแตกต่างในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองกับการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐบาล คือ การปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบหนึ่งไปสู่อีกระบอบหนึ่ง หรือมีการล้มล้างสถาบันประมุขของรัฐเพื่อเปลี่ยนรูปแบบประมุขของรัฐ ดังนั้นการปฏิวัติต้องเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจหรือการเมืองใหม่ทั้งหมด ตัวอย่างการปฏิวัติ เช่น การปฏิวัติอเมริกาจากอาณานานิคมของประเทศอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1776 การปฏิวัติใหญ่ของประเทศฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย ค.ศ. 1932 (พ.ศ.2475) เป็นต้น ส่วนการรัฐประหาร หมายความแต่เพียงการเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหารประเทศโดยฉับพลันเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลเดิมแต่ไม่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือประมุขของประเทศแต่ประการใด ตัวอย่างในการรัฐประหาร เช่น การรัฐประหารของประเทศบังคลาเทศ ค.ศ. 1966 เป็นต้น
2.3.2 ความแตกต่างในลักษณะของผู้ก่อการ
การปฏิวัติกับการรัฐประหารจะมีความแตกต่างกันในลักษณะของผู้ก่อการ คือ การปฏิวัตินั้นผู้กระทำหรือผู้ก่อการมักจะเป็นประชาชนซึ่งรวมตัวกันขึ้น หรือมีคณะบุคคลดำเนินการโดยความสนับสนุนของประชาชนและอาจมีการใช้กำลังอาวุธหรือแรงผลักดันทางการเมืองประการอื่นก็ได้ ส่วนการรัฐประหารนั้นผู้กระทำหรือผู้ก่อการการมักจะเป็นบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลหรือมีส่วนอยู่ในรัฐบาลหรือโดยคณะทหาร
2.4 ผลทางกฎหมายในการยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ
ผลทางกฎหมายในการยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ คือ การปฏิวัติ รัฐประหาร นั้นหาชอบด้วยกฎหมายไม่ ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และแม้แต่กฎหมายอาญาเองก็ไม่ยอมรับการปฏิวัติหรือการรัฐประหาร ซึ่งจะเป็นความผิดฐานกบฏ ผลของการปฏิวัติหรือรัฐประหารย่อมเป็นที่รับรองตามกฎหมายภายในของทุกรัฐ ผลอันเกิดจากเหตุนี้อาจสมบูรณ์ และชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ทั้งๆที่ไม่มีสิทธิปฏิวัติหรือรัฐประหาร แต่ถ้าปฏิวัติหรือรัฐประหารสำเร็จแล้วคณะปฏิวัติหรือรัฐประหารย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาลโดยชอบด้วยกฎหมายได้ คำสั่งทั้งปวงที่คณะปฏิวัติหรือรัฐประหารประสงค์จะให้เป็นกฎหมาย ถือว่าเป็นกฎหมายของแผ่นดินหรืออาจมีตรากฎหมายนิรโทษกรรมไว้ด้วยก็ได้เพื่อเป็นอุดช่องว่างไม่ให้มีการฟ้องคดีขึ้นในภายหลัง ดังคำพิพากษาของศาลสูงของประเทศสหรัฐอเมริกาในคดี Well v. Bain ว่า “การใช้กำลังล้มล้างรัฐบาลนั้นก่อให้เกิดผลตรงกันข้ามสองประการ คือ ถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ใหม่ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็จะเป็นกบฏ”
ดังนั้นผลทางกฎหมายในการยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญอาจแยกคำตอบได้ 3 แนวทาง ดังนี้
2.4.1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมมีผลให้ระบบกฎหมายที่มีอยู่เดิมหมดสภาพไป
การยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยการปฏิวัติรัฐประหารกระทำการสำเร็จย่อมมีผลให้ระบบกฎหมายที่มีอยู่เดิมหมดสภาพไป พร้อมกันนั้นก็ทำให้ความสมบูรณ์ของกฎหมาย ในระบบกฎหมายเดิมก่อนปฏิวัติสิ้นสภาพลงเช่นกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง การยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลังย่อมทำให้บรรดากฎหมายที่ใช้อยู่สิ้นสภาพและความสมบูรณ์ลงในทันที เนื่องจากถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นพื้นฐานของระบบกฎหมาย แนวคำตอบหรือแนวคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับกันในทางปฏิบัติจากศาลในประเทศเครือจักรภพอังกฤษ ถึง 4 ศาล คือ ศาลฎีกาประเทศปากีสถาน ศาลสูงสุดของประเทศอูกานดา ศาลอุทธรณ์ของโรดีเซีย และ The Judicial Committee of The Privy Council ของประเทศอังกฤษ
2.4.2 การยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญไม่มีผลให้ระบบกฎหมายที่มีอยู่เดิมหมดสภาพไป
การยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยการปฏิวัติรัฐประหารกระทำการสำเร็จไม่มีผลให้ระบบกฎหมายที่มีอยู่เดิมหมดสภาพไป กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทที่กำหนดเงื่อนไขความสมบูรณ์ของกฎหมายที่จะตราขึ้นใช้บังคับ กฎหมายใดๆที่ถูกตราขึ้นแล้วตรงตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ กฎหมายนั้นย่อมเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ในตัวของมันเองโดยมิได้ผูกอิงความสมบูรณ์ของมันอยู่กับรัฐธรรมนูญอีกต่อไป
2.4.3 การยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญมีผลเฉพาะในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการเมืองเท่านั้น
การยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยการปฏิวัติรัฐประหารกระทำการสำเร็จมีผลให้ระบบกฎหมายที่มีอยู่เดิมหมดสภาพไปเฉพาะในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการเมืองเท่านั้น กล่าวคือ ทำให้บทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองสิ้นผลใช้บังคับไป โดยที่บทบัญญัติในส่วนอื่นๆ ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่เช่นเดิม
วิเคราะห์การยกเลิกรัฐธรรมนูญของประเทศไทยตั้งอดีตถึงปัจจุบัน
ประเทศไทย หลังมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 และมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการต่างๆหลายฉบับด้วยกันจนถึงปัจจุบัน รวม 19 ฉบับ นับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเปลืองที่สุดในโลก พบว่ามีการยกเลิกรัฐธรรมนูญนั้นเกิดขึ้นได้ 2 วิธีด้วยกันคือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางรัฐธรรมนูญกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหาร ดังนี้
1.1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ
การยกเลิกรัฐธรรมนูญวิถีทางรัฐธรรมนูญ คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือการยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามีวัตถุประสงค์ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับเก่าทั้งฉบับ ดังนี้
1.1.1การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยวิถีทางรัฐธรรมนูญของประเทศไทยพบว่ามีการยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเหตุผลของการยกเลิกใช้รัฐธรรมนูญมีอยู่ว่า รัฐธรรมนูญนั้นไม่ว่าเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อได้ประกาศใช้มาเป็นเวลานานแล้ว อาจมีข้อความที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ ทั้งบางมาตราและมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ดังนี้
1.1.1.1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญบางมาตรา
การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางรัฐธรรมในกรณีบางมาตราของประเทศไทย คือ เมื่อมีการยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราในมาตรานั้นก็จะถูกยกเลิกแล้วให้ใช้มาตราใหม่ที่แก้ไขเพิ่มเติมใช้แทน ดังนี้
1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ฉบับที่ 2 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา จำนวน 3 ครั้ง คือ (1) รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช 2482 (2) รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483 รัถธัมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราสดร พุทธศักราช 2485
2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ฉบับที่ 3 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา จำนวน 4 ครั้ง คือ (1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2490 (2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) (ฉะบับที่ 2) พุทธศักราช 2491 (3) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับบที่ 3) พุทธศักราช 2491
3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ฉบับที่ 10 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา จำนวน 1 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2518
4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ฉบับที่ 13 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา จำนวน 2 ครั้ง คือ (1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2528 (2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2532
5.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ฉบับที่ 15 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา จำนวน 6 ครั้ง คือ (1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2535 (2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2535 (3) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2535 (4) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2535 (5) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 (6) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539
6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับที่ 16 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา จำนวน 1 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2548
7.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ฉบับที่ 18 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา จำนวน 2 ครั้ง คือ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2554 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2554
8.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ฉบับที่ 19 (รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา มีอยู่ 1 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558
1.1.1.2 การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
การยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับของประเทศไทย คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่แทนฉบับเก่า ดังนี้
1.การยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
2.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
1.1.2 การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมมีวัตถุประสงค์ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับเดิม
การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมมีวัตถุประสงค์ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับเดิมของประเทศไทย พบว่ามีอยู่ 2 กรณีด้วยกัน ซึ่งโดยส่วนมากจะกำหนดไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีหลายฉบับด้วยกัน ดังนี้
1.1.2.1 การจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเนื่องจากมีความล้าสมัย
การจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเนื่องจากมีความล้าสมัย ต้องจัดรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาใช้แทนฉบับเก่า คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้าสมัยจึงได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
1.1.2.2 การจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับเก่า
การจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับเก่า รัฐธรรมฉบับเก่าก็จะถูกยกเลิกไป ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดไว้ ดังนี้
1.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศุกราช 2475 เนื่องจากได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
2.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เนื่องจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
3.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2502 เนื่องจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
4.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2515 เนื่องจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
5. การยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 17 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 เนื่องจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
2.2.2 การยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ
การยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญของประเทศ จะเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญการรัฐประหารทั้งหมด คือ มีจำนวน 10 ครั้ง หลังจากมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในสมัยรัชกาลที่ 7 เปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายลายลักษณ์ที่มีสถานะกฎหมายสูงสุด การยกเลิกรัฐธรรมนูญของประเทศไทยนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหาร ได้แก่
1.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490
2.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494
3.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514
4.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
5.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520
6.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534
7.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ถูกยกเลิกในวันที่ 19 กันยายน 2549
8.การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
2.2.3 ผลทางกฎหมายในการยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญของประเทศไทย
ผลทางกฎหมายในการยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยการปฏิวัติ รัฐประหารของประเทศไทยที่ผ่านมาที่มีการยอมรับถือว่าเป็นการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด เพราะเมื่อมีการปฏิวัติ รัฐประหารสำเร็จถือว่าคณะปฏิวัติรัฐ ประหารมีอำนาจสูงสุดที่ดำเนินการออกกฎหมายรองรับการกระทำนั้นว่าไม่เป็นความผิด แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีนักวิชาการบางกลุ่มก็ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญถือว่ามีการกระทำความผิดถึงแม้ออกกฎหมายมารองรับก็ตามถือว่าเป็นโมฆะขัดต่อหลักกฎหมายธรรมชาติ
ดังนั้นผลของการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการปฏิวัติ รัฐประหาร ของประเทศไทยถือกันว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการปฏิวัติ รัฐประหาร ไม่มีผลต่อระบบกฎหมายของรัฐหรือบรรดาความสมบูรณ์ของกฎหมายอื่นๆ ในระบบกฎหมาย เว้นแต่จะมีการประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติรัฐประหารออกมายกเลิกกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ) เมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปโดยการปฏิวัติหรือการรัฐประหาร กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็สิ้นผลไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะ “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ขยายเนื้อหารายละเอียดในรัฐธรรมนูญ” มีความใกล้ชิดกับรัฐธรรมนูญมาก ส่วนกฎหมายธรรมดาอื่นๆ (พระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเท่าพระราชบัญญัติ) ซึ่งเป็น”กฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ” เมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปด้วยการปฏิวัติหรือการรัฐประหารย่อมไม่สิ้นผลไปกับรัฐธรรมนูญเพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ในตัวมันเอง มิได้ผูกอิงควาใสมบูรณ์ของมันอยู่กับรัฐธรรมนูญดังเช่นกฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายเอียดของรัฐธรรมนูญ
บรรณานุกรม
เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ “หลักการพื้นฐานกฎหมายมหาชน” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน,2556
กิตติศักดิ์ ปรกติ “เมื่อนิรโทษกรรมกลายเป็นเรื่องล้าหลังและไร้ประโยชน์” วารสารวันรพี 2550
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โกเมศ ขวัญเมืองและสิทธิกร ศักดิ์แสง “การศึกษาแนวใหม่ : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป”
กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน,2549
จรัญ โฆษณานันท์ “ปรัชญากฎหมายไทย” กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, พิมพ์ครั้งที่ 6 ,2545
จรัญ โฆษณานันท์ “นิติปรัชญา” กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2538
ปิยบุตร แสงกนกกุล “พระราชอำนาจ องคมนตรีและผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
openbook ,2550
พรเลิศ สุทธิรักษ์ และสิทธิกร ศักดิ์แสง “การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน : กรณีศึกษา
เปรียบเทียบการให้สิทธิประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 กับ 2550” รายงานวิจัยเสนอต่อวิทยาลัยตาปี ปีการศึกษา 2552
โภคิน พลกุล “ปัญหาและข้อคิดบางเรื่องจากรัฐธรรมนูญไทย” กรุงเทพฯ : ศูนย์การพิมพ์พลชัย,2524,
แม่ลูกจันทร์ “สถิติใหม่” สำนักข่าวหัวเขียว คอลัมน์เด่นไทยรัฐ ไทยรัฐออนไลท์ วันที่ 27 กรกฎาคม
2557 http://www.thairath.co.th/content/438853
รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 36/2550 วันพฤหัสบดี ที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2550 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
วนิดา แสงสารพันธ์ “หลักรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน” กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์วิญญูชน,2548
สิทธิกร ศักดิ์แสง “การยกเลิกกฎหมายนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญขัดต่อหลักนิติรัฐหรือไม่” วารสารกฎหมาย
คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยตาปี (เมษายน –มิถุนายน 2550)
…………………… “สถานะทางกฎหมายของประกาศคณะปฏิวัติ… ?” ได้รับพิจารณาให้เสนอผลงานทาง
วิชาการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมระดับคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ โครงการสัมมนาทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานกิจการยุติธรรม สภานิติศึกษา วันพุธที่ 30 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2551 ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร
………………….. “การปกครองแบบนิติรัฐที่ยึดหลักนิติธรรมกับปรัชญากฎหมายที่มีอิทธิพลต่อการจัดทำ
และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไทย” กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา,2556
สันติเลิศ เพ็ชรอาภรณ์ “ปัญหาการมีสาวนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 : ศึกษากรณีการเสนอร่างกฎหมายของประชาชนและการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของประชาชน” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2547
David Butler, Austin Ranney. Referendums : A Comparative Study of Practice and
Theory. Washington D.C. : American Enterprise.1980,p.42.
Oxford University Dictionary, 3rd.,vol.Ii,p.1730
Wolf Linder. Swiss Democracy : Possible to Conflict in Multicultural Societies, New York :
ST. Martin’s Press,194,p.9
Oxford University Dictionary, 3rd.,vol.Ii,p.1730
ศาล ประกอบด้วย 在 sittikorn saksang Facebook 的最佳解答
บทสรุปและข้อเสนองานวิจัย "การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน" (รายงานวิจัยเพื่อเสนอตำแหน่งรองศาสตราจารย์สิทธิกร ศักดิ์แสง ปี 2553)
คณะผู้วิจัย
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิทธิกร ศักดิ์แสงหัวหน้าคณะวิจัย
2. นายสราวุธ เบญจกุล
3. นายเจษฎา อนุจารี
4. นายสุชาติ ขวัญเกื้อ
บทสรุป
หลักการ แนวคิดและวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) ได้ถูกพัฒนาตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) เป็นต้นมาและเป็นที่กล่าวถึงและยอมรับกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และมีหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย อัยการ ศาล ฯลฯ ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปบางส่วนแล้วหรือกำลังเสนอร่างกฎหมายเพื่อรับรองการดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว แต่ในส่วนของ “ตำรวจ”ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกและต้นธารที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรมและเป็นองค์กรที่สัมผัสประชาชนโดยตรงในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันปราบปราม รวมทั้งการสืบสวนสอบสวนและทราบข้อมูลสภาพปัญหาในชุมชนนั้นๆดีที่สุด แต่ไม่ปรากฏวิธีการและขั้นตอนตามกฎหมายที่ชัดเจนจะนำมาใช้ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาที่เป็นการกระทำความผิดอันยอมความมิได้มาใช้กับผู้กระทำความผิดอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนในการนำมาปฏิบัติได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 81 ได้บัญญัติแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านการอำนวยความยุติธรรม ไว้ว่า “ ( 1 ) ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม และทั่วถึง ส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือและให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน และจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ประชาชนและองค์กรวิชาชีพมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม และการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย” จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีเจตนารมณ์ที่ต้องการส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น อีกทั้งมุ่งให้มีการจัดระบบงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงนำหลักการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาใช้ระงับข้อพิพาททางอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน เพื่อให้ระงับข้อพิพาททางอาญาระหว่างคู่กรณี เพื่อให้เป็นไปด้วยความชอบด้วยกฎหมาย ความยุติธรรม โปร่งใส สามารถถูกตรวจสอบได้ และที่ประชาชนหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมและป้องกันแก้ไขอาชญากรรมในระดับท้องถิ่นหรือชุมชน ซึ่งจะเป็นร่วมกันเชิงสมานฉันท์ อันเป็นการลดความคลุมเครือและสงสัยของประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและช่วยให้กระบวนการยุติธรรมของไทยมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ดังกล่าวจะมีหลักการอยู่ที่ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสประนีประนอมยอมความกัน เมื่อผู้กระทำความผิดสำนึกผิดและยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขณะเดียวกันผู้เสียหายได้รับการเยียวยาและได้รับค่าชดใช้ค่าเสียหายโดยรวดเร็วทันที ซึ่งเป็นและไปตามหลักนิติสมบัติ (Rechtgut) หรือหลักคุณธรรมทางกฎหมาย ซึ่งจะเป็นผลดีแก่คู่กรณี ชุมชน และสังคมมากกว่า เพราะสามารถลดระยะเวลาและความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการยุติธรรม ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล ลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ลดการทุจริตของเจ้าพนักงาน และลดงบประมาณภาครัฐ อีกทั้งส่งผลให้ประชาชนทุกระดับเข้ามีส่วนร่วมในการอำนวยความยุติธรรมและป้องกันปัญหาความขัดแย้งในชุมชนเพื่อเสริมสร้างให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ตามทฤษฎี “อาชญาวิทยาแนวสันติวิธี” (Peacemaking criminology) ซึ่งเป็นกระบวนการค้ำชูผู้มีส่วนร่วมได้เสียในการกระทำความผิด ได้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อร่วมกัน ระบุชี้และจัดการความเสียหาย ความต้องการของแต่ละฝ่ายเพื่อให้สามารถฟื้นฟูเยียวยา (Restoration) ทำให้ความเสียหายกลับคืนได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ อันเป็นวิธีการที่เหมาะสมยิ่งกว่าหลักการลงโทษผู้กระทำความผิด โดยการแก้แค้นทดแทน (Retribution) ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ของการยุติธรรมแบบดั่งเดิม จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนเกิดขึ้นหรือไม่ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมแบบคู่ขนาน
จากผลการศึกษาวิจัยที่รับข้อมูลจากการศึกษาเอกสาร การประชุม สัมมนา และการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ให้มีการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน มีข้อสรุปได้ดังนี้
1. ควรที่จะมีกฎหมายใหม่มารองรับเป็นข้อยกเว้นหรือเป็นการเบี่ยงเบนคดีในคดีอาญาบางประเภทที่ไม่สมควรที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลัก (Main Stream Criminal Justice) หรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ น่าจะเหมาะสมกว่า ด้วยเหตุผลดังนี้
1) ทำให้ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสประนีประนอมยอมความคดีที่พิพาทและไม่คิดที่จะไปแก้แค้นซึ่งกันและกัน หรือ กระทำการที่มิชอบด้วยกฎหมาย
2) ผู้เสียหายได้รับความพึงพอใจ ได้รับการเยียวยาและได้รับค่าเสียหายด้วยความรวดเร็วทันที
3) เมื่อผู้กระทำความผิดสำนึกผิดและยินยอมปรับพฤติกรรมจะทำให้ลดความขัดแย้งในชุมชนและสังคม
4) สังคมจะเกิดการบูรณาการมีความสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน
5) ลดระยะเวลา ลดปริมาณคดีขึ้นสู่อัยการและศาล ลดความยุ่งยากสลับซับซ้อนในการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม ลดการทุจริตของเจ้าพนักงานและลดงบประมาณภาครัฐ
6) เป็นการรองรับการใช้กระบวนดารยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
2. ความผิดอาญาประเภทที่ควรนำมาใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งไม่กระทบกับกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ดังนี้
1) คดีอาญาอันยอมความได้
2) คดีลหุโทษ
3) การกระทำความผิดโดยประมาท ซึ่งรวมไปถึงการกระทำโดยประมาทในคดีจราจรด้วย
4) คดีอาญาอันยอมความมิได้ที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
3. เมื่อมีการดำเนินการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนแล้ว ไม่ควรจะดำเนินการกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ควรให้เป็นเหตุอายุความในการดำเนินคดีอาญาสะดุดหยุดอยู่ เพื่อรอกระบวนการไกล่เกลี่ยว่าจะมีผลอย่างไร คือ ถ้าการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ก็ให้มีการดำเนินคดีต่อไป ให้เริ่มนับอายุความในการดำเนินคดีต่อจากเวลานั้น แต่ถ้าไกล่เกลี่ยสำเร็จและคู่กรณีได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการไกล่เกลี่ย ให้ถือว่าสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
ส่วนคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง เมื่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย มีคำสั่งใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาท (การไกล่เกลี่ย) คดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน มิให้นำบทบัญญัติในเรื่องการฟ้องและการผัดฟ้องตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและการพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับด้วย และเมื่อผู้กระทำความผิดได้รับการปล่อยตัวในชั้นพนักงานสอบสวนมิให้นำบทบัญญัติในเรื่องระยะเวลาในมาตรา 113/1แห่งประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ
4. รูปแบบและองค์กรที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน แยกพิจารณาสรุปออก 2 ประเด็น คือ
1) รูปแบบที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน คือ รูปแบบการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-เหยื่อผู้กระทำความผิด (Victim-offenders Mediation (VOM)) เป็นวิธีการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-เหยื่อผู้กระทำความผิด ประกอบด้วย “การเผชิญหน้า” ระหว่างเหยื่ออาชญากรรมกับผู้กระทำความผิดซึ่งพนักงานคุมประพฤติหรือนักสังคมสงเคราะห์หรืออาสาสมัครอาจทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและมีข้อสังเกตสำคัญที่ว่า ทั้งเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำความผิดต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันในโลกของความเป็นจริงและบนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลของสองฝ่าย โดยพยายามขจัดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การไกล่เกลี่ยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้มีการเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมโดยการจัดเวทีที่ปลอดภัยและควบคุมได้ ให้พวกเขาได้พบปะพูดคุยกับผู้กระทำความผิดบนพื้นฐานของความสมัครใจ เปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้เรียนรู้ผลกระทบของอาชญากรรมที่มีต่อเหยื่ออาชญากรม และเข้ามาแสดงความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของเขาที่กระทำไป และให้โอกาสเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำความผิดได้ร่วมกันพัฒนาและยอมรับแผนการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมนั้น รูปแบบรูปแบบการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-เหยื่อผู้กระทำความผิด (VOM) นิยมใช้กันมากในประเทศแคนาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมัน ประเทศฝรั่งเศส ประเทศออสเตรีย ประเทศนอร์เวย์ และประเทศฟินแลนด์ เป็นต้น
2) องค์กรที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาท (การไกล่เกลี่ย) คดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน แยกพิจารณาสรุปได้ 2 องค์กร คือ
(1) คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย ที่ประกอบด้วย
ก) หัวหน้าสถานีตำรวจ เป็นประธานกรรมการ
ข) ฝ่ายปกครอง ผู้วิจัยเห็นว่าควรมีฝ่ายปกครองควรเข้าร่วมในคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยด้วย เนื่องจากฝ่ายปกครองมีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายปกครองควรจะเป็นตำแหน่งระดับใด ผู้วิจัยเห็นว่าควรจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอ เพราะถ้าเป็นนายอำเภอคงมีภาระหน้าที่งานมากคงไม่มีเวลาเข้าร่วมประชุมในคณะกรรมอำนวยการไกล่เกลี่ยได้ เห็นควรที่จะปลัดอำเภอที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอ
ค) ผู้แทนประชาชนที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจสถานีตำรวจ (กต.ตร.) ผู้วิจัยเห็นว่าควรเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนโดยตรง ซึ่งกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวที่เปิดรับการมีส่วนร่วมของประชาชนย่อมเป็นกระบวนการที่ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชนผู้แทนประชาชนที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจสถานีตำรวจ (กต.ตร.) แล้วในอนาคตเกิดมีการยกเลิกคณะกรรมการดังกล่าว จะเกิดปัญหาหรือไม่ ผู้วิจัยเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาสามารถแก้ไขกฎหมายได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ และคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยที่เหลืออยู่ก็ยังสามารถดำเนินงานต่อไปได้
ง) ผู้ที่ได้รับมอบหมายซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานีตำรวจนั้นๆเป็นเลขานุการ เนื่องจากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนทราบรายละเอียดของเรื่องที่จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นอย่างดี และตำแหน่งดังกล่าวนี้ไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวน จึงไม่ใช่ตำแหน่งที่ที่จะให้คุณให้โทษกับฝ่ายใด
(2) ผู้ไกล่เกลี่ย มีความเป็นกลาง ไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความซื่อสัตย์ ผ่านการอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ย ด คือ มีคุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ยและคุณสมบัติต้องห้าม ดังต่อไปนี้ก) คุณสมบัติของบุคคลที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ผู้วิจัยเห็นว่าคุณสมบัติของบุคคลที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและเห็นว่าผู้ไกล่เกลี่ยควรมีคุณสมบัติเบื้องต้น ดังนี้(ก) มีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง(ข) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ค) มีความซื่อสัตย์(ง) มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ในประเด็นอายุของผู้ไกล่เกลี่ยนี้ผู้วิจัย เห็นว่า อายุ 35 ปี เป็นระดับอายุที่น่าจะมีประสบการณ์พอสมควรแล้ว และเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือจากคู่กรณี
(จ) ผ่านการอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ย เช่น หลักสูตรจิตวิทยาการไกล่เกลี่ย เทคนิคการไกล่เกลี่ย จริยธรรมของผู้ไกล่เกลี่ย เป็นต้นข) ลักษณะคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ไกล่เกลี่ย ผู้วิจัยเห็นว่าบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ไกล่เกลี่ยต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้(ก) เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ(ข) เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการหรือถูกสั่งให้ออกราชการไว้ก่อนตามระเบียบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น(ค) เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
(ง) เป็นบุคคลล้มละลาย(จ) เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(ฉ) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ไล่ออก หรือปลดออก จากราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เพราะกระทำความผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น
(ช) เป็นผู้เคยต้องโทษฐานประพฤติผิดมรรยาททนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ
5. การที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน ไม่ควรให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้เข้าร่วมในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาท (ไกล่เกลี่ย) คดีอาญา เห็นควรให้พนักงานสอบสวนทำหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรองข้อพิพาทในเบื้องต้น ว่าข้อพิพาทดังกล่าวเข้าเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ของการไกล่เกลี่ยหรือไม่ แล้วนำเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยพิจารณาดำเนินการต่อไป แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการให้พนักงานสอบสวน เข้าร่วมในกระบวนการไกล่เกลี่ยด้วยก็ควรเป็นพนักงานสอบสวนที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน
6. ขั้นตอนและการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน มีขั้นตอน ดังนี้
1) ขั้นตอนพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินการ ว่าเข้าเงื่อนไขของการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนหรือไม่ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไข ก็ดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักหรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ ถ้าเข้าเงื่อนไข ก็ให้ดำเนินการ ดังนี้ แจ้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนให้กับคู่กรณี ถ้าคู่กรณีไม่ยินยอมก็ให้ดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักหรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ แต่คู่กรณียินยอมก็ให้ดำเนินการรวบพยานหลักฐานเบื้องต้นให้กับคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย ภายใน 7 วัน
2) ขั้นตอนคณะกรรมการไกล่เกลี่ย ให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ยพิจารณา คือ เห็นควรให้ไกล่เกลี่ยหรือไม่ กรณีไม่เห็นควรก็ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ แต่ถ้าเห็นชอบให้มีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน ให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย แต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยภายใน 3 วัน ซึ่งในกระบวนนี้ถือว่ากระบวนการดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญาสะดุดหยุดอยู่
3) ผู้ไกล่เกลี่ย ให้ผู้ไกล่เกลี่ยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่ถ้าไม่แล้วเสร็จให้ขยายเวลา ไปไม่เกิน 30 วัน ถ้าไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จก็ให้รายงานไปยังคณะกรรมอำนวยการไกล่เกลี่ยเพื่อส่งเรื่องไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักหรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติต่อไป แต่ถ้าสำเร็จให้รายงานไปยังคณะกรรมอำนวยการไกล่เกลี่ยเพื่อส่งเรื่องไปให้พนักงานสอบสวนชะลอการดำเนินคดีอาญา และกำหนดเงื่อนไขควบคุมความประพฤติผู้กระทำความผิด ตามที่ตกลงไว้ในข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ โดยคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยเองหรือขอความร่วมมือให้ปกครองเป็นผู้ควบคุมความประพฤติ
4) ขั้นตอนการตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไข ข้อตกลงของผู้กระทำความผิดให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยประสานขอความร่วมมือกับฝ่ายปกครอง คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ส่วนในเขตพื้นที่ไม่มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน คือ ในเขตเทศบาลเมือง เทศบาลนคร ก็ให้ประธานชุมชนตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551ซึ่งเป็นฝ่ายปกครองที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และที่สำคัญ คือ อยู่ใกล้ชิดกับผู้กระทำความผิดมากที่สุด น่าจะมีบทบาทในการควบคุมประพฤติผู้กระทำความผิดได้ดี
5) เมื่อผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขความประพฤติ ให้ฝ่ายปกครองรายงานต่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย เพื่อพนักงานสอบสวนทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องเสนอต่อพนักงานอัยการเห็นชอบ
6) พนักงานอัยการเห็นชอบการสั่งไม่ฟ้องก็ให้ถือว่าสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องนั้นระงับไป โดยเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดให้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
7. การติดตามและการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนหลักการและแนวคิดของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาท (การไกล่เกลี่ย) คดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน คือ ต้องการเยียวยาผู้เสียหาย ให้ผู้กระทำความผิดได้สำนึกต่อการการกระทำผิด ยอมชดใช้เยียวยาให้แก่ผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยอมรับและให้อภัยผู้กระทำความผิด แต่การที่ผู้กระทำความผิดได้สำนึกการกระทำความผิดนั้นต้องพิจารณาว่าการสำนึกของการกระทำความผิดนั้นอยู่ในระดับใด ถ้าถือว่าการกระทำความผิดได้ตกลงชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย เสร็จสิ้น ถือว่าได้สำนึกแก่การกระทำความผิด คดีอาญาก็จะระงับ ผู้วิจัยเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้องตามหลักการและแนวคิดดังกล่าวข้างต้น จึงต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กระทำความผิดต้องปฏิบัติ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงครบถ้วนแล้ว
เงื่อนไขในข้อตกลงนั้นคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อดังนี้
(1) ให้ไปรายงานตัวกับบุคคลที่คณะกรรมการอำนวยการมอบหมายโยประสานงานกับฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชน ผู้ควบคุมความประพฤติ ตามเวลาที่กำหนดเพื่อจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควร
(2) จัดให้ผู้กระทำความผิด กระทำกิจกรรมบริการสังคม หรือสาธารณะประโยชน์ตามที่คณะกรรมการไกล่เกลี่ยและผู้กระทำความผิดเห็นสมควร
(3) ให้ฝึกหัดหรือทำอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(4) ให้ละเว้นจากการคบหาสมาคม หรือประพฤติใดๆ อันอาจนำไปสู่การกระทำผิดในทำนองเดียวกันอีก
(5) ให้ไปรับบำบัดรักษาความบกพร่องของร่างกาย หรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น หรือให้ไปเข้ารับการอบรมในหลักฐานที่เกี่ยวกับการปรับปรุงพฤติกรรมหรือพัฒนาพฤตินิสัย ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่กำหนด
(6) เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อแก้ไขหรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดได้กระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก
ในการกำหนดเงื่อนไขการไกล่เกลี่ย หากมีความจำเป็นคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย สามารถเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ หรือบุคคลที่เห็นว่าสำคัญและจำเป็น ร่วมหารือพิจารณาทำบันทึกข้อตกลงและกำหนดเงื่อนไขได้ตามความเหมาะสมแห่งคดี โดยคำนึงถึงความสงบสุข การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ และพอสมควรแก่เหตุ
ซึ่งการไกล่เกลี่ยคดีอาญาจะไม่ตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะทำการสอบสวนต่อไปจนกว่าได้รับแจ้งว่าการไกล่เกลี่ยคดีอาญาเป็นผลสำเร็จและคู่กรณีได้ปฏิบัติตามข้อตกลงครบถ้วนสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องจึงจะระงับ
8. เมื่อมีการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนไม่สำเร็จ ไม่จะเป็นสาเหตุใดก็ตามก็ให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักหรือกระบวรการยุติธรรมทางอาญาปกติต่อไป
จากข้อสรุปจากงานวิจัยการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน เพื่อให้ระงับข้อพิพาททางอาญาระหว่างคู่กรณี ในลักษณะของความชอบด้วยกฎหมาย มีความยุติธรรม ความโปร่งใส สามารถถูกตรวจสอบได้ และที่สำคัญประชาชนหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมและป้องกันแก้ไขอาชญากรรมในระดับท้องถิ่นหรือชุมชน ซึ่งจะเป็นร่วมกันเชิงสมานฉันท์ อันเป็นการลดความคลุมเครือและสงสัยของประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและช่วยให้กระบวนการยุติธรรมของไทยมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปในลักษณะแบบ Win-Win ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการะบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทในชั้นพนักงานสอบสวน ดังนี้
Win ที่ 1 เป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมในการได้รับแก้ไขเยียวยา รวมทั้งการปรับสามัญสำนึกการให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิด
Win ที่ 2 เป็นประโยชน์กับผู้กระทำความผิดที่สำนึกในการกระทำความผิด การชดใช้ค่าเสียให้กับผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายให้อภัยกับผู้กระทำความผิด
Win ที่ 3 ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล ลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ลดการทุจริตของเจ้าพนักงาน และลดงบประมาณภาครัฐ
Win ที่ 4 เป็นการส่งผลให้ประชาชนทุกระดับเข้ามีส่วนร่วมในการอำนวยความยุติธรรมและป้องกันปัญหาความขัดแย้งในชุมชนเพื่อเสริมสร้างให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
Win ที่ 5 เป็นการรองรับการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
5.2 ข้อเสนอแนะ
จากการที่สรุปผลการวิจัยเห็นว่าควรมีร่างกฎหมายรองรับอำนาจการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาท (การไกล่เกลี่ย) คดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน ผู้วิจัยจึงได้จัดทำร่างกฎหมายเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปดังนี้
บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน
พ.ศ. ......
หลักการ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนเพื่อรองรับการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เหตุผล
โดยที่สมควรให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวกับความผิดอันยอมความได้ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี ด้วยการกำหนดแนวทางการสมานฉันท์เพื่อการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทคดีอาญามาใช้ จะทำให้ผู้เสียหายและผู้ต้องหาได้มีโอกาสประนีประนอมยอมความกัน เมื่อผู้ต้องหาสำนึกผิดและยินยอมปรับพฤติกรรม ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาและได้รับการชดใช้ค่าเสียหายโดยรวดเร็วทันที ซึ่งจะเป็นผลดีต่อคู่กรณี และเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า เพราะสามารถลดระยะเวลาและความยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมของคู่กรณี ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล ลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ลดการทุจริตของเจ้าพนักงาน และงบประมาณภาครัฐ และส่งผลให้ประชาชนทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมในการอำนวยความยุติธรรมและป้องกันอาชญากรรมเพื่อเสริมสร้างให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่าง
พระราชบัญญัติ
ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน
พ.ศ. …
………………………………………………………………………………………………………………………………………………….
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 39 และมาตรา 81
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานพนักงานสอบสวน พ.ศ. ….”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“การไกล่เกลี่ย” หมายความว่า การไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน
“คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย” หมายถึง คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยสถานีตำรวจ
“ก.ต.ช.” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗
“ผู้ไกล่เกลี่ย” หมายความว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนที่ ก.ต.ช. ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว
“คู่กรณี” หมายความว่า ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาในคดีอาญาที่มีผู้เสียหาย
มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวงตามเสนอของ ก.ต.ช. เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว
มาตรา ๖ เมื่อได้มีคำสั่งให้ใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญาแล้ว ให้ถือเป็นเหตุอายุความในการดำเนินคดีอาญาสะดุดหยุดอยู่ และเมื่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย มีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป ให้เริ่มนับอายุความในการดำเนินคดีต่อจากเวลานั้น
มาตรา ๗ ให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยและผู้ไกล่เกลี่ยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๘ ในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ศาลจังหวัด เมื่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย มีคำสั่งให้ใช้กระบวนการไกล่เกลี่ย มิให้นำบทบัญญัติในเรื่องการฟ้องและการผัดฟ้อง ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับ
ในกรณีวรรคหนึ่งถ้าผู้กระทำความผิดได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวนมิให้นำบทบัญญัติในเรื่องระยะเวลา ในมาตรา ๑๑๓/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ
มาตรา ๙ ห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐาน คำรับสารภาพหรือข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญา เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี
หมวด ๑
ความผิดที่ให้มีการไกล่เกลี่ย
________________________
มาตรา ๑๐ คดีอาญาดังต่อไปนี้ ให้คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอให้มีการไกล่เกลี่ยได้
(๑) คดีความผิดอันยอมความได้
(๒) คดีความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ
(๓) คดีความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
(๔) คดีความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาที่มีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน ๕ ปี
มาตรา ๑๑ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับในกรณีดังนี้
(๑) คดีที่ผู้ต้องหาเป็นผู้ร้องขอ และผู้ต้องหานั้นเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้กระทำผิดใด ๆ อีกในระหว่างที่ยังรับโทษอยู่หรือภายในเวลา ๕ ปีนับแต่วันพ้นโทษ เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๒) คดีที่ผู้ต้องหาที่ร้องขออยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือระหว่างพิจารณาของพนักงานอัยการหรือศาลคดีอื่น หรืออยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอาญาในชั้นสอบสวน หรือคดีที่ผู้ต้องหาเป็นผู้ร้องขอระหว่างรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๓) คดีที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จสิ้น และส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว
(๔) คดีที่ ก.ต.ช. ประกาศกำหนดห้ามมิให้มีการไกล่เกลี่ย
หมวด ๒
ก.ต.ช. และคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย
______________________________
มาตรา ๑๒ ให้ ก.ต.ช. มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(๑) ออกระเบียบ ประกาศหรือมีมติเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
(๒) ออกระเบียบว่าด้วยการประชุมและลงมติของคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย
(๓) กำหนดหลักสูตรผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน แต่งตั้ง ขึ้นทะเบียน หรือเพิกถอนผู้ไกล่เกลี่ย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ก.ต.ช. กำหนด
(๔) ประกาศกำหนดค่าตอบแทนของคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยและผู้ไกล่เกลี่ยโดยเบิกจ่ายจากกระทรวงการคลัง
มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย จำนวนสามคนประกอบด้วยหัวหน้าสถานีตำรวจ เป็นประธานกรรมการ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ผู้แทนประชาชนในคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจระดับสถานีตำรวจเป็นกรรมการ ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่หัวหน้าสถานีตำรวจมอบหมายเป็นเลขานุการ
มาตรา ๑๔ คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(๑) พิจารณากลั่นกรองรายชื่อบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยเสนอ ก.ต.ช. พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและส่งไปอบรมหลักสูตรผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนตามที่ ก.ต.ช. กำหนดเพื่อแต่งตั้งและขึ้นทะเบียน
(๒) พิจารณาคำร้องขอให้มีการไกล่เกลี่ย
(๓) พิจารณากำหนดให้ผู้ไกล่เกลี่ยในแต่ละคดีที่เข้าหลักเกณฑ์ที่ทำการไกล่เกลี่ยได้ หรือเปลี่ยนตัวผู้ไกล่เกลี่ยตามคำร้องขอ
(๔) ตรวจสอบ ติดตามผล และรายงานผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ ในกรณีที่ไกล่เกลี่ยไม่ได้ให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป
(๕) พิจารณาและมีความเห็นเสนอให้ ก.ต.ช. เพิกถอนรายชื่อผู้ไกล่เกลี่ยออกจากทะเบียน
(๖) หน้าที่อื่นๆ ตามที่ ก.ต.ช. กำหนด
หมวด ๓
คุณสมบัติ การพ้นสภาพ อำนาจและหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ย
__________________________________
มาตรา ๑๕ ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) เป็นผู้มีสัญชาติไทย
(๒) อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันแต่งตั้ง
(๓) เป็นผู้ที่มีความซื้อสัตย์ สุจริต ประกอบอาชีพไม่เป็นที่รังเกียจของสังคม
(๔) เป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนได้รับการแต่งตั้งและขึ้นทะเบียนไว้แล้ว
มาตรา ๑๖ บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
(๒) เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น
(๓) เป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
(๔) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ไล่ออก หรือปลดออกจากราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เพราะกระทำความผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น
(๕) เป็นผู้เคยต้องโทษฐานประพฤติผิดมรรยาทองค์กรวิชาชีพตามที่กฎหมายรับรอง
(๖) เป็นผู้กระทำการใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต หรือมีส่วนได้เสียในการไกล่เกลี่ยนั้น
(๗) เป็นบุคคลล้มละลาย
มาตรา ๑๗ ผู้ไกล่เกลี่ยพ้นสภาพจากการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยดังนี้
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๕ ไม่ว่าการขาดคุณสมบัตินั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ไกล่เกลี่ย
(๔) เป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ไกล่เกลี่ย
(๕) ถูกเพิกถอนรายชื่อเป็นผู้ไกล่เกลี่ยออกจากทะเบียน
มาตรา ๑๘ ผู้ไกล่เกลี่ยดังต่อไปนี้จะทำการไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้
(๑) เป็นคู่กรณีเอง หรือมีส่วนได้เสียโดยตรงหรือโดยทางอ้อม
(๒) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี เว้นแต่คู่กรณียินยอม
(๓) เป็นญาติของคู่กรณี คือเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดหรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้นหรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น เว้นแต่คู่กรณียินยอม
(๔) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ ผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
(๕) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้าง ลูกจ้างของคู่กรณี เว้นแต่คู่กรณียินยอม
(๖) เป็นหรือเคยเป็นพนักงานสอบสวนที่ได้ทำสำนวนการสอบสวนในคดีไกล่เกลี่ยนั้นๆ
(๗) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๙ ผู้ไกล่เกลี่ยมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
(๑) ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน ตามที่คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมอบหมาย
(๒) บันทึกข้อตกลงและกำหนดเงื่อนไขประกอบข้อตกลงในเรื่องการเยียวยาความเสียหายของคู่กรณี
(๓) รายงานผลการไกล่เกลี่ยไปยังประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย
หมวด ๔
กระบวนการและขั้นตอนในการไกล่เกลี่ย
___________________________________
มาตรา ๒๐ ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิให้คู่กรณีทราบในโอกาสแรกว่าคู่กรณีมีสิทธิได้รับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน
เมื่อคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญา ให้พนักงานสอบสวน บันทึกคำร้องและสอบถามไปยังอีกฝ่ายหนึ่งว่ายินยอมหรือไม่โดยพลัน
ในกรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้คำยินยอมให้พนักงานสอบสวนเสนอคำร้องและบันทึกคำยินยอมดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยเพื่อมีความเห็นว่าควรใช้กระบวนการไกล่เกลี่ย
มาตรา ๒๑ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในคดีไว้จนกว่าจะได้รับผลการแจ้งผลการไกล่เกลี่ยจากประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย
มาตรา ๒๒ ให้พนักงานสอบสวนพิจารณารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิตนิสัย อาชีพ ฐานะ สิ่งแวดล้อมของผู้ต้องหา พฤติการณ์แห่งคดี การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี ความยินยอมของผู้เสียหาย ความจำเป็นตามหลักอาชญาวิทยา และทัณฑวิทยาตลอดจนเหตุผลอื่นๆ อันสมควรเห็นว่าเพียงพอแก่การพิจารณาการไกล่เกลี่ย
ให้พนักงานสอบสวนส่งข้อมูลตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย ภายใน ๗ วัน นับแต่ได้ส่งคำร้องขอไกล่เกลี่ยไปยังคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยเพื่อพิจารณาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน
มาตรา ๒๓ ให้เมื่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีคำสั่งให้ใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญาและให้แต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยโดยเร็วและแจ้งให้คู่กรณีทราบต่อไปโดยเร็ว
การแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามกฎกระทรวง
มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย จัดหาสถานที่ที่เหมาะสมและจัดให้มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ เพื่อดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน เป็นอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม
มาตรา ๒๕ ให้ผู้ไกล่เกลี่ยกำหนดนัดไกล่เกลี่ยคดีอาญาภายในกำหนดระยะเวลา ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งและแจ้งให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องทราบ
มาตรา ๒๖ การไกล่เกลี่ยคดีอาญาให้กระทำเป็นการเปิดเผย เว้นแต่คู่กรณีประสงค์ให้กระทำเป็นการลับ โดยคู่กรณีต้องเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญาด้วยตนเอง
มาตรา ๒๗ ก่อนเริ่มต้นการไกล่เกลี่ยคดีอาญา ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องอธิบายให้คู่กรณีทราบถึง ลักษณะของการไกล่เกลี่ย กระบวนการและผลทางกฎหมายในการไกล่เกลี่ยและสิทธิในการที่จะยุติหรือยกเลิกการไกล่เกลี่ยไม่ว่าในเวลาใดๆ
มาตรา ๒๘ การไกล่เกลี่ยคดีอาญาให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๖๐ วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีมติให้มีการไกล่เกลี่ย ในกรณีที่มีเหตุอันควรหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีโอกาสที่คู่กรณีจะสามารถตกลงกันได้ ผู้ไกล่เกลี่ยอาจร้องขอให้มีการขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน ๓๐ วัน
มาตรา ๒๙ คดีที่ผู้ไกล่เกลี่ยสามารถไกล่เกลี่ยคู่กรณีให้ตกลงกันได้ ให้ผู้ไกล่เกลี่ย บันทึกข้อตกลงและกำหนดเงื่อนไขการไกล่เกลี่ยดังกล่าวให้ผู้ต้องหา ผู้เสียหายและผู้ไกล่เกลี่ยลงลายมือชื่อไว้ และส่งบันทึกดังกล่าวไปยังประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย เมื่อผู้ต้องหาปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขการไกล่เกลี่ยเสร็จสิ้น ส่งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิด รวมเข้าสำนวนพร้อมทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเสนอพนักงานอัยการเพื่อมีความเห็นชอบต่อไป
คดีที่ผู้ไกล่เกลี่ยไม่สามารถทำให้คู่กรณีตกลงยุติคดีได้ภายในเวลาที่กำหนดให้ผู้ไกล่เกลี่ยบันทึกผลการไกล่เกลี่ยและแจ้งผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยทราบ ให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินคดี
กรณีผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขการไกล่เกลี่ยตามบันทึกข้อตกลงที่ได้ให้ไว้ ให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีหนังสือแจ้งให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไข ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยส่งคดีให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินคดีต่อไป
กรณีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อพนักงานอัยการเห็นชอบสั่งไม่ฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ
มาตรา ๓๐ กรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ หรือเหตุอื่นใด เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาไม่อาจปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขได้ อันมิได้เกิดจากความผิดผู้ต้องหา ให้ผู้ต้องหาแจ้งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยทราบ เพื่อพิจารณาผลการปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไข เมื่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยเห็นว่าผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขการไกล่เกลี่ยไปมากพอสมควรแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสรุปสำนวนพร้อมทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเสนอพนักงานอัยการ เพื่อมีความเห็นชอบต่อไป
มาตรา ๓๑ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน กรณีที่พนักงานอัยการไม่เห็นชอบตามความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้พนักงานอัยการระบุเหตุที่ไม่เห็นชอบพร้อมคำแนะนำ เสนออัยการสูงสุดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือในกรณีต่างจังหวัดให้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณามีความเห็นและแจ้งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทราบ
ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทำการสอบสวน ทำตามคำแนะนำของอัยการสูงสุดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือผู้ว่าราชการจังหวัด และส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี
มาตรา ๓๒ ให้ผู้ไกล่เกลี่ยยุติการไกล่เกลี่ย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
(๑) คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกเลิกความตกลงที่จะทำการไกล่เกลี่ย
(๒) มีเหตุอันควรสงสัยว่าความตกลงนั้นมิได้เป็นไปด้วยความสมัครใจ
(๓) มีเหตุอันควรสงสัยว่าคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถเข้าใจความหมายของการ ไกล่เกลี่ย และผลที่จะได้รับจากการไกล่เกลี่ย
(๔) การดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไปเห็นได้ชัดว่าจะเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นผู้เยาว์ คนวิกลจริต คนไร้ความสามรถ
(๕) คู่กรณีไม่สามารถเจรจาเพื่อตกลงแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
(๖) เมื่อพ้นระยะเวลาตามมาตรา ๒๘
ให้ผู้ไกล่เกลี่ยรายงานให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย ทราบถึงการยุติการไกล่เกลี่ยตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว
มาตรา ๓๓ เมื่อได้รับรายงานการยุติการไกล่เกลี่ยให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาต่อไป
หมวด ๕
ผลของการไกล่เกลี่ย
___________________________
มาตรา ๓๔ เมื่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีคำสั่งให้ทำการไกล่เกลี่ยคดีอาญา ผู้เสียหายจะฟ้องคดีมิได้ จนกว่าประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยจะมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ถ้าผู้เสียหายนั้นฟ้องคดีอยู่ก่อนแล้วให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย
มาตรา ๓๕ ถ้าความปรากฏแก่คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยว่าผู้ต้องหาจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่มีเหตุอันควร ให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องด้วยตนเอง
มาตรา ๓๖ ถ้าข้อตกลงการไกล่เกลี่ยคดีอาญา กำหนดเงื่อนไขให้ผู้กระทำความผิดต้องปฏิบัติ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงครบถ้วนแล้ว เว้นแต่ข้อตกลงในทางแพ่งเมื่อได้มีการตกลงกันเรียบร้อยถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
เงื่อนไขในข้อตกลงคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อดังนี้
(๑) ให้ไปรายงานตัวกับบุคคลที่คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมอบหมายให้ควบคุมความประพฤติ ตามเวลาที่กำหนดเพื่อจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควร
(๒) จัดให้ผู้ต้องหา กระทำกิจกรรมบริการสังคม หรือสาธารณะประโยชน์ตามที่คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยและผู้ต้องหาเห็นสมควร
(๓) ให้ฝึกหัดหรือทำอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(๔) ให้ละเว้นจากการคบหาสมาคม หรือประพฤติใดๆ อันอาจนำไปสู่การกระทำผิดในทำนองเดียวกันอีก
(๕) ให้ไปรับบำบัดรักษาความบกพร่องของร่างกาย หรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น หรือให้ไปเข้ารับการอบรมในหลักฐานที่เกี่ยวกับการปรับปรุงพฤติกรรมหรือพัฒนาพฤตินิสัย ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่กำหนด
(๖) เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อแก้ไขหรือป้องกันมิให้ผู้ต้องหากระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก
ในการกำหนดเงื่อนไขการไกล่เกลี่ย หากมีความจำเป็นคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย สามารถเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ หรือบุคคลที่เห็นว่าสำคัญและจำเป็น ร่วมหารือพิจารณาทำบันทึกข้อตกลงและกำหนดเงื่อนไขได้ตามความเหมาะสมแห่งคดี โดยคำนึงถึงความสงบสุข การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ และพอสมควรแก่เหตุ
หมวด ๖
ค่าตอบแทนของคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยและผู้ไกล่เกลี่ย
_______________________________
มาตรา ๓๗ ให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย และผู้ไกล่เกลี่ยได้รับค่าตอบแทนตาม ก.ต.ช. กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ให้เบิกจ่ายจากกระทรวงการคลัง
มาตรา ๓๘ หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นไปตาม ก.ต.ช. กำหนด
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
...........................................
นายกรัฐมนตรี
ศาล ประกอบด้วย 在 ศาลยุติธรรมคืออะไร - YouTube 的美食出口停車場
มาเข้าใจบทบาทศาลยุติธรรม และระบบความยุติธรรมในประเทศไทยว่า ประกอบด้วย อะไรดูจากในคลิปได้เลย#ศาลยุติธรรม #COJ #DCourt #สำนักงานศาลยุติธรรม. ... <看更多>
ศาล ประกอบด้วย 在 สื่อศาล - ... | Facebook 的美食出口停車場
งสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ต้องเดินทางไปยื่นฟ้องที่ศาล ... สำหรับศาลนำร่องทั้ง 29 ศาล ประกอบด้วย ศาลแพ่ง ... ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบศาลแรงงานภา ... <看更多>