ไม่นานมานี้ น้องชายคนหนึ่งเอ่ยปากถามคล้ายปรับทุกข์ว่า "ถ้ามีคนคอยพูดจาทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราควรทำอย่างไรดี" น้องอธิบายว่าเป็นคนที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วย จึงถามว่าเป็นคนในครอบครัวใช่ไหม น้องพยักหน้า
ต้องยอมรับว่าผู้คนจำนวนมากไม่มีวิธีแสดงความรักความห่วงใยที่สร้างความรู้สึกดีกับอีกฝ่าย บ่อยครั้งที่พ่อแม่ทำร้ายจิตใจลูกโดยไม่ตั้งใจ เช่นกันกับที่ลูกทำร้ายจิตใจพ่อแม่ แฟนทำร้ายจิตใจกัน กระทั่งปู่ย่าตายายกับหลานๆ หรือเพื่อนกับเพื่อนก็ตาม บ่อยครั้งที่คำพูดด้วยเจตนาดีแต่กลับสื่อออกมาด้วยถ้อยคำรุนแรง เช่น เมื่อไหร่แกจะได้เรื่องได้ราวเหมือนลูกชาวบ้านเขาบ้าง, แม่พูดจาอย่างกับไดโนเสาร์ตกยุค, ฯลฯ ที่คงพอจินตนาการกันออก
คำพูดสะเทือนใจบางครั้งก็เกิดขึ้นจากความกดดันสั่งสมเนิ่นนานในใจของผู้พูดด้วย เช่น เวลาแม่ดุด่าเรา เราอาจไม่รู้เลยว่าในชีวิตแม่นั้นถูกกระทำโดยพ่อ ตายาย เจ้านาย เพื่อนร่วมงานมาอย่างไรบ้าง
ทุกคนจึงล้วนแล้วแต่น่าเห็นใจ
แต่เมื่อคำพูดหรือการกระทำของคนใกล้ตัวทำให้รู้สึกแย่กับตัวเองย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรยอมรับและทนไปเรื่อยๆ โดยไม่สื่อสารกัน หนึ่ง--มันอาจสร้างบาดแผลในใจ สอง--ความสัมพันธ์จะย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ
...
ขออนุญาตแบ่งปันคำแนะนำจากนักสื่อสารด้วยสันติจากที่เคยเรียนมาในคลาสพี่อวยพร เขื่อนแก้ว ที่วัชรสิทธา ซึ่งแนะนำขั้นตอนดังต่อไปนี้
1
เห็นความสำคัญว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องพูดจากัน เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทั้งสองฝ่าย
2
เลือกช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายพร้อม คือมีจิตใจที่ปลอดโปร่ง ปราศจากอารมณ์ขุ่นมัว ไม่ควรพูดในขณะทะเลาะถกเถียงกัน
3
แจ้งกับคนที่เราต้องการสื่อสารด้วยว่า วันนี้มีเรื่องสำคัญของเราสองคนที่อยากชวนคุยและร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างเรา
4
ระบุพฤติกรรม: บอก 'ความจริง' ที่เกิดขึ้นให้ฟังโดยไม่ใส่ร้ายหรือตีความ เช่น บอกแม่ว่า แม่พูดคำนี้กับผม พ่อด่าผมด้วยคำนี้มาตั้งแต่เด็ก ลูกพูดประโยคนี้กับแม่ สิ่งสำคัญของข้อนี้คือ--เพียงแค่บอกให้ฟัง ไม่ใส่อารมณ์ ไม่ตีความว่าบวกหรือลบ แต่สะท้อนให้เขาเห็นตัวเองแบบตรงไปตรงมา
5
บอกผลกระทบ: บอกความรู้สึกของตัวเราว่าเมื่อได้ยินคำพูดเหล่านั้นหรือถูกกระทำจากการกระทำเหล่านั้นแล้วเรารู้สึกอย่างไร บอกอย่างจริงใจ ไม่ชวนทะเลาะ รวมถึงบอกว่ามันมีผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างเรา เช่น "เวลาแม่ใช้คำว่าโง่กับผม ผมรู้สึกเสียใจ รู้สึกแย่กับตัวเอง เจ็บปวด ผมโกรธแม่ รู้สึกไม่ดีกับแม่ ยิ่งแม่พูดบ่อยมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างเราก็ยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ"
6
เสนอทางออก: ความสำคัญคือเสนออย่างเป็นรูปธรรม เช่น "เป็นไปได้ไหมที่แม่จะเปลี่ยนคำพูด หรือถ้าโกรธมาก เราอาจจะยังไม่ต้องพูดจากันในตอนนั้น ไปสงบสติอารมณ์กันก่อน แล้วค่อยมาพูดกันด้วยคำพูดที่ดีกว่าเดิม หรือแม่อยากให้ผมปรับปรุงอะไรบ้างก็บอกมาได้นะครับ"
...
แน่นอนว่าขั้นตอนทั้งหมดที่พูดมานั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะกับคนที่ใช้คำพูดทำร้ายเราเสียจนเรากลัว ไม่กล้าหรือไม่อยากคุยด้วย แต่การสื่อสารให้เขารับรู้ความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเขาอาจทำไปโดยไม่รู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร หรือมองไม่เห็นวิธีแสดงออกแบบอื่น ซึ่งเราแนะนำเขาได้ รวมทั้งเราเองก็จะมีโอกาสรับฟังฟีดแบ็กจากเขาอย่างตรงไปตรงมา ไม่เจืออารมณ์เช่นกัน
สำหรับผมแล้ว กุญแจสำคัญมีอยู่สามดอก
1. เราต้องพูดอย่างจริงใจว่า สิ่งที่อยากชวนคุยนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตของเราและความสัมพันธ์ระหว่างเรา เราต้องการพูดคุยเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีความสุขมากขึ้น ไม่เผลอทำร้ายกันโดยไม่จำเป็น
2. เวลาบอกพฤติกรรมของเขาต้องไม่ตีตราหรือตัดสิน เช่น "แม่ก็พูดแย่ๆ แบบนี้ตลอดแหละ" หรือ "แม่ไม่เคยระวังปากตัวเองหรอก ผมเลยเจ็บปวดตลอด" สิ่งเหล่านี้จะทำให้กระบวนการทั้งหมดพังและไปต่อไม่ได้ กลับสู่วงจรเดิมๆ
3. เสนอทางออกหรือช่วยกันคิดทางออกอย่างเป็น 'รูปธรรม' ไม่ใช่จบลงด้วยคำพูดนามธรรม เช่น "แม่ทำไปก็เพราะรักนะลูก" หรือ "จากนี้ไปเราจะปรับความเข้าใจกันและรักกันนะครับ" การช่วยกันคิดทางออกที่ปฏิบัติได้จริงจะแก้ปัญหาได้ดีกว่า
...
ผมมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เป็นนักจิตวิทยาและทำงานดูแลจิตใจผู้คน ทุกคนพูดตรงกันว่า การถูกทำร้ายจากคำพูดของคนใกล้ตัวเป็นปัญหาที่แพร่หลายมาก เป็นกันแทบทุกบ้าน เมื่อไม่มีเครื่องมือจัดการ หลายคนก็เพียงก้มหน้าก้มตายอมรับสภาพไปและคิดในใจว่า "วันหนึ่งฉันจะไม่อยู่บ้านหลังนี้อีกต่อไป" พร้อมกับสะสมแผลในใจที่ลงลึกไปเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของตัวเองไปอีกนาน
การสื่อสารให้อีกฝ่ายรับรู้จึงสำคัญ มิใช่เรื่องที่ควรยอมปล่อยให้ดำเนินไปเรื่อยๆ หาโอกาสสื่อสาร ปรับความเข้าใจ ส่องกระจกให้เขาเห็นตัวเอง และเห็นความรู้สึกอันเปราะบางของเราภายในใจที่เขาไม่เคยล่วงรู้ เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
เพื่อการแสดงออกถึงความรักที่อีกฝ่ายจะได้รับจริงๆ
ไม่ใช่ความรักที่ทำให้อีกฝ่ายเจ็บปวด
ซึ่งจะว่าไปแล้ว ฝ่ายผู้พูดเองก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน
Search
รู้สึกไม่ดีกับแม่ 在 สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย - #เกลียดพ่อแม่แต่ก็รู้สึกผิด ไม่ว่าเรา ... 的美食出口停車場
สิ่งที่อาตมาแนะคือให้อภัยแม่ ขณะเดียวกันก็ควรยอมรับตัวเองที่ยังรู้สึกไม่ดีกับแม่ อย่าปฏิเสธหรือตำหนิตัวเอง เธอยอมรับว่าตัวเองทุกข์มากที่ระเบิดใส่แม่ ทั้ง ๆ ที่ ... ... <看更多>