เคล็ดลับการทำธุรกิจของ AP THAILAND ตลอดเวลา 30 ปี จนกลายมาเป็นแบรนด์อสังหาฯ อันดับ 1
AP THAI x ลงทุนแมน
“ปี 40 ผมมีหนี้ 3,000 ล้าน มีสินทรัพย์แค่ 1,000 ล้าน สถานะเปรียบเหมือนล้มละลายไปแล้ว”
ครั้งหนึ่ง ลงทุนแมน ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน
CEO บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน)
ซึ่งเวลานั้นน่าจะเป็นวิกฤติที่ทำให้ AP อยู่ในจุดต่ำสุด นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 30 ปี
แล้ววันนี้...สถานะล่าสุดของ เอพี เป็นอย่างไร
ปี 2563 คาดว่ายอดโอนมีมูลค่า 46,000 ล้านบาท
เติบโตกว่า 40% หากเทียบกับปี 2562
ที่น่าสนใจในปีที่ผ่านมา เอพี น่าจะเป็นบริษัทที่มียอดโอนมากที่สุดในตลาดอสังหาฯ
พอเป็นแบบนี้ก็น่าจะทำให้กำไรรวมทั้งปี 2563 จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
(ยอดโอนรวมโครงการ Joint Venture)
อย่างที่ทราบกันดีปีที่ผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่จากการระบาดของโควิด 19
หลายบริษัทรายได้น้อยลง แต่ธุรกิจของ เอพี กลับเติบโตสวนกระแส
จะเห็นว่าจากที่ธุรกิจติดลบ จนถึงวันที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ
เอพี เป็นหนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ดี
หลายคนคงตั้งคำถามว่า เอพี มีเคล็ดลับอะไร
ลงทุนแมน จะวิเคราะห์ให้ฟัง
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของแบรนด์ เอพี ก็คือการปรับตัว
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด ก็คือในช่วงวิกฤติโควิด 19 เมื่อปีที่แล้ว
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง
และหากวัดกันว่า คอนโดมิเนียม หรือ ที่อยู่อาศัยแนวราบ อันไหนกระทบมากกว่ากัน
ก็ต้องบอกว่า คอนโดมิเนียม ที่ต้องเผชิญกับกำลังซื้อหดหาย ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนไม่ได้
ขณะที่อยู่อาศัยแนวราบ ถึงต้องเผชิญกับเรื่องกำลังซื้อ แต่ด้วยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย
อีกทั้งการระบาดของโควิด 19 หลายคนเลือกซื้อบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม มากกว่า คอนโดมิเนียม
พอเป็นแบบนี้ เอพี ที่มีการบริหารจัดการพอร์ตการเปิดตัวสินค้าก็บาลานซ์ระหว่างแนวราบและ คอนโดมีเนียม ก็ทำให้สามารถสลับพอร์ตสินค้ารวดเร็ว เปลี่ยนมารุกตลาดแนวราบหนักหน่วง
จนในที่สุด 9 เดือนแรก เอพี มีรายได้จากโครงการแนวราบ 18,150 ล้านบาท
เติบโต 30% หากเทียบกับ 9 เดือนแรก 2562
ที่น่าสนใจตลอดเวลาที่ผ่านมากลยุทธ์การดำเนินงานธุรกิจแนวราบของ เอพี ก็มีการปรับตัวอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ เช่น การมีแบบบ้านมากกว่า 70 แบบในทุกทำเลทอง
และทุกระดับราคาตั้งแต่ 2.4 - 60 ล้านบาท
เป้าหมายก็เพื่อให้ก้าวนำการเปลี่ยนแปลง และตอบความต้องการใหม่ๆ
ไม่ว่าลูกค้าจะเปลี่ยนไปในทิศทางใดก็ตาม
หรือการใช้แนวคิด Hybrid Living การผสานเทคโนโลยีเข้ากับการออกแบบพื้นที่
จนเกิดเป็น นวัตกรรมบ้านที่เข้าใจการใช้ชีวิตแบบไฮบริด
โดย เอพี เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ รายแรกๆ ในเมืองไทยที่จริงจังกับเรื่องนี้
การปรับตัวตลอดเวลาเลยทำให้ โครงการแนวราบของ เอพี เติบโตก้าวกระโดด
ปี 2011 รายได้โครงการแนวราบ 6,360 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้โครงการแนวราบ 18,145 ล้านบาท
ผ่านมา 8 ปี รายได้เติบโตถึง 185%
ในส่วนธุรกิจคอนโดมิเนียม รู้หรือไม่ว่า เอพี เริ่มรุกตลาดนี้จริงจังในช่วงปี พ.ศ. 2550 ภายใต้ชื่อแบรนด์ LIFE ที่สร้างชื่อเสียงให้ เอพี เป็นรายแรกที่พัฒนาคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า ซึ่ง ณ เวลานั้น ยังไม่ค่อยมีคอนโดมิเนียมในทำเลติดรถไฟฟ้ามากนัก
ตอนนั้น เอพี มองว่าในอนาคตอันใกล้ คนที่ต้องการคอนโดมิเนียม
จะต้องมองหาทำเลติดรถไฟฟ้าเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ
เลยฉกชิงความได้เปรียบด้วยการเน้นเปิดตัวคอนโดติดรถไฟฟ้าหลายโครงการต่อเนื่อง
ทำให้ภาพจำหลายคนก็คือหากซื้อคอนโดติดรถไฟฟ้า เอพี มักจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ
และก็ประสบความสำเร็จยอดขายเติบโตต่อเนื่องทุกปี
โดยโครงการที่สร้างชื่อจนมาถึงทุกวันนี้ก็คือ The Address, Rhythm, Life
ที่ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่าที่ทางโครงการมอบให้ จนถึงการออกแบบและนวัตกรรมใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโลกธุรกิจจะเปลี่ยนเร็วแค่ไหน
กุญแจความสำเร็จอย่างหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปไหนก็คือ Product ต้องดี
สมมติวันนี้ เราจะผลิตสินค้าขึ้นมา 1 อย่าง สิ่งที่ทุกคนน่าจะทำตามเหมือนกันหมด
ก็คือผลิตสินค้าที่ ลูกค้าต้องการ ซึ่งก็เป็นคำตอบที่ถูก
เพียงแต่ เอพี กลับมีความคิดที่ “ต่าง”
ว่าทำไมเราไม่สร้างที่อยู่อาศัย ที่ไม่ใช่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างเดียว แต่ต้องเหนือความคาดหมาย
ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา เอพี ตอบคำถามนี้ ผ่านโครงการที่อยู่อาศัยของตัวเอง
และก็ประสบความสำเร็จในเรื่องยอดขาย
สิ่งที่น่าคิด..คือเบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมดนี้ เกิดจากอะไร?
ก็น่าจะเป็นพนักงานในบริษัทกว่า 2,200 คนที่ถูกหล่อหลอมด้วย Outward Mindset
แล้ว Outward Mindset คืออะไร?
อธิบายง่ายๆ คือการให้พนักงานมีทัศนคติเอาใจเขามาใส่ใจเรา
มองว่าคนอื่นต้องการอะไร ไม่ได้มีมุมมองแค่เป้าหมายตัวเอง
ซึ่งเรื่องนี้ทำให้พนักงานทุกคนมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันอีกด้วย
โดยเป้าหมายที่ว่าก็คือ Empower living หรือการสร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณค่า
เพื่อเติมเต็มทุกเป้าหมายของชีวิตได้ตามปรารถนา
สิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้คือการเกิดคู่แข่ง ที่เหนือความคาดหมายในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
เพราะวันนี้เราคงเคยได้ยินหลายบริษัทกำลัง “กลายพันธุ์” ทำธุรกิจใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากธุรกิจหลัก
เช่น Airbnb ธุรกิจตัวกลางให้บริการปล่อยเช่าที่พักอาศัย ก็มีอีกหนึ่งธุรกิจใหม่
คือเป็นคนสร้างที่อยู่อาศัย
ที่น่าสนใจในอนาคตก็น่าจะมีอีกหลายบริษัท ที่เดินตามรอยเหมือน Airbnb
และบริษัทที่น่าจะอยู่รอดจากปรากฏการณ์เหล่านี้
จนสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนก็ต้องมี Outward Mindset
พร้อมกับปรับตัวต่อ การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเหมือนอย่าง เอพี ไทยแลนด์ นั่นเอง..
References
-รายงานประจำปี พ.ศ. 2562
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาสที่ 3 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2563
-https://techsauce.co/tech-and-biz/airbnb-backyard
-http://www.realist.co.th/blog/25-%E0%B8%9B%E0%B8%B5-ap-thailand/
Search