เศรษฐกิจไทย ในยุคแห่งความปกติใหม่ มีโอกาสอะไร ที่ซ่อนอยู่?
Krungthai X ลงทุนแมน
เศรษฐกิจประเทศไทยในตอนนี้
มีทั้ง ความโชคดี และ ความโชคร้าย
ความโชคดี คือ เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ
ส่วนความโชคร้าย คือ เศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของไทย กำลังเจ็บหนัก..
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เริ่มมีการเลิกจ้างพนักงาน
หลายบริษัทกระทบหนัก จนถึงขั้นต้องยุติกิจการ
ซึ่งนอกจากภาคธุรกิจจริง หรือ Real Sector แล้ว
ในภาคการลงทุน ก็เกิดความผันผวน ที่คาดการณ์ได้ยากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นกัน
เรื่องนี้ทำให้เกิด งานสัมมนา Krungthai Precious Plus presents Wealth Forum Chapter 2 “NEXT is Now จับกระแสกลยุทธ์ สู่ความมั่งคั่งวิถีใหม่”
งานสัมมนาของธนาคารกรุงไทย ที่รวบรวมผู้บริหารระดับสูงของหลายองค์กร ได้แก่
- คุณลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต
- ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
- ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ และผู้บริหารกลุ่มบริษัท Sea Limited
- คุณนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคเซนเชอร์ ประเทศไทย
- ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย
มาร่วมกันหารือถึงแนวคิดสู่ความมั่งคั่ง ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเต็มไปด้วยความท้าทาย
งานนี้ ให้แง่คิดดีๆ อะไรกับเราบ้าง?
ลงทุนแมน จะสรุปให้ฟัง
เราคงเคยได้ยินคนพูดว่า ถ้ามีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส
เศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัว และกลับสู่การเติบโตได้อีกครั้ง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความหวังนั้นมันอาจจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะแม้จะมีการคิดค้นวัคซีนสำเร็จแล้ว แต่ก็อาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี กว่าที่ทุกคนทั่วโลกจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง
คำถามคือ จะทำอย่างไร ให้ธุรกิจอยู่รอดไปถึงวันนั้น วันที่โลกใบนี้ จะถูกปลดล็อกด้วยวัคซีนที่ทุกคนรอคอย
สำหรับประเทศไทย ผู้ประกอบการกลุ่มหนึ่งที่เราจะต้องโฟกัสเป็นกลุ่มแรกๆ คือ ภาคการท่องเที่ยว
รู้หรือไม่ว่า ปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยทั้งหมด 40 ล้านคน
และนักท่องเที่ยวจำนวนนี้ จ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวของไทยมากถึง 1.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 12% ของ GDP ประเทศไทย
ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ คือการ “เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ”
แต่ถ้าจะทำเช่นนั้น ก็ต้องมีมาตรการคัดกรองอย่างเข้มข้นเพื่อปิดความเสี่ยงเรื่องการระบาดรอบสองด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้นแล้ว เราอาจจะยังต้องโฟกัสไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงเป็นกลุ่มหลัก
เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพียงหนึ่งคน มีความสามารถใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวโดยทั่วๆ ไป ถึง 4 - 5 คนรวมกัน
หากการเปิดประเทศนี้เกิดขึ้นได้จริงในเร็วๆ นี้
ก็จะทำให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาได้
ทั้งโรงแรม, สายการบิน, ร้านอาหาร, ธุรกิจรถเช่าตามสถานที่ท่องเที่ยว และอีกมากมายหลายธุรกิจที่ยังไม่ได้กล่าวถึง
ซึ่งถ้าธุรกิจเหล่านี้เริ่มฟื้นตัวกลับมาได้ สิ่งที่ตามมาก็คือ การจ้างแรงงานในธุรกิจเหล่านี้ก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เราก็ได้เห็นกันแล้วว่า หลังจากที่รัฐบาลเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน เศรษฐกิจไทยก็เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้นเรื่อยมา
ยกตัวอย่างเช่น
อัตราการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ เริ่มดีขึ้น
ยอดขายรถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ค่อยๆ ฟื้นตัวดีมากขึ้น
แต่ทุกอย่างที่กำลังดีขึ้นนี้
ก็ไม่ได้แปลว่า ทุกอย่างจะกลับมาปกติได้ในเร็วๆ นี้
เพราะอย่าลืมว่า หลายประเทศทั่วโลกยังคงเจ็บหนัก และยังคงไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเร็วๆ นี้
สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ คือ “บริหารกระแสเงินสด” ให้ดี
พยายามลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจให้น้อยลงให้สอดคล้องกับรายได้
แต่อย่างไรก็ตาม หลายธุรกิจยังคงต้องพึ่งพาสถาบันการเงิน
ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ วันนี้มีกว่า 10 ล้านบัญชีในระบบธนาคาร ที่ยื่นเรื่องขอผ่อนปรนหนี้สินที่ค้างชำระ
พอเป็นแบบนี้ ธนาคารเอง ก็เกิดความกังวลใจในการปล่อยสินเชื่อ
ผลร้ายจึงมาตกอยู่ที่ผู้ประกอบการรายเล็ก และธุรกิจ SMEs ที่อาจเสียโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำมาพลิกฟื้นธุรกิจตัวเอง
ซึ่งเราคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ภาครัฐและสถาบันการเงินจะมีมาตรการอะไร มาแก้ปัญหาในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม เราจะโฟกัสเพียงแค่เศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากเราเปิดประเทศเพื่อฟื้นภาคการท่องเที่ยว แล้วต้องแลกมาด้วยการเกิดการระบาดรอบสองของเชื้อไวรัส
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องยากกว่าเดิมหลายสิบเท่า
เพราะเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ถูกใช้ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดในรอบแรกไปจำนวนมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทุกวิกฤติที่เกิดขึ้น ก็มักจะมี “โอกาส” ที่ซ่อนอยู่เสมอ
เรื่องนี้ก็เลยทำให้ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS
ได้นำเสนอแนวคิดในการลงทุนในช่วงนี้ ด้วยคอนเซ็ปต์ “NEXT”
ซึ่ง NEXT ก็คือ
N = New Normal พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เราชอปปิงออนไลน์, สั่งอาหารผ่านบริการดิลิเวอรี, เราใส่หนักกากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน จนเป็นเรื่องปกติใหม่ไปแล้วในชีวิตประจำวัน
ซึ่งนั่นหมายความว่า ถ้ามองให้ดี เราอาจจะเจอโอกาสใหม่ๆ ที่จะลงทุนในธุรกิจที่กำลังไปในทิศทางเดียวกับความปกติใหม่เหล่านี้
E = Equity เราอยู่ในภาวะดอกเบี้ยเข้าใกล้ 0% ซึ่งทำให้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยต่ำลงมาก ดังนั้น การลงทุนระยะยาวในหุ้นที่เรามีความเข้าใจ คือคำตอบสำคัญ ที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ
X = External พยายามลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี, ธุรกิจ Social Media และ E-commerce ที่กำลังเติบโตทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นในจีนที่เป็นอีกตลาดที่น่าจับตามอง
T = Technology เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ๆ คือเทรนด์แห่งอนาคต ที่ได้แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในช่วงโควิด 19 ระบาด
ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ ลงทุนแมน ได้จากการเข้าร่วมสัมมนา” Krungthai Precious Plus presents Wealth Forum Chapter 2”
ซึ่งต้องบอกว่า เป็นงานที่ให้แง่คิดทั้งในด้านเศรษฐกิจและการลงทุนได้อย่างน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ข้อคิดที่ได้จากงานนี้ คงสรุปได้อย่างสั้นๆ ว่า
ทุกวิกฤติย่อมสร้างผลกระทบให้เศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตของหลายคน
แต่หากเรามองให้ดีๆ ก็อาจจะพบว่า
ในวิกฤติที่เกิดขึ้นนั้น อาจมี “โอกาส” ที่เราจะสามารถคว้าเอาไว้ได้ เช่นกัน..
Search