The discoveries raise as many questions as they answer.
alma telescope 在 มติพล ตั้งมติธรรม Facebook 的最讚貼文
โครงสร้างรอบหลุมดำบริเวณใจกลางของ M87
เมื่อสองปีที่แล้ว ทีมงาน Event Horizon Telescope (EHT) ได้เปิดเผยภาพถ่ายของหลุมดำมวลยิ่งยวด ณ ใจกลางของกาแล็กซี M87 เป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เราสามารถทำการสังเกตการณ์มวลสารที่อยู่ในจานพอกพูนมวลรอบหลุมดำได้ (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ [3])
อย่างไรก็ตาม ภาพของจานพอกพูนมวลรอบหลุมดำ ไม่ได้บอกเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับหลุมดำ และแท้จริงแล้วหลุมดำนั้นมีโครงสร้างที่กว้างใหญ่กว่านั้น นอกเหนือไปจากจานพอกพูนมวลไปอีกมาก
วันที่ 14 เมษายน 2021 ที่ผ่านมานี้ ทีมงาน EHT ได้ร่วมมือกับหอสังเกตการณ์ทั้งบนโลกและในอวกาศถึงกว่า 19 แห่ง และได้นำข้อมูลต่างๆ มารวมกัน เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับหลุมดำที่อยู่ ณ ใจกลางของกาแล็กซี M87 นี้ พร้อมทั้งภาพที่บันทึกได้ในช่วงความยาวคลื่นอื่นๆ ที่สามารถบอกให้เราทราบเกี่ยวกับหลุมดำได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
หลุมดำ ณ ใจกลางกาแล็กซี M87 นี้ นับเป็นหลุมดำมวลยิ่งยวด ที่มีมวลมากที่สุดหลุมหนึ่งในเอกภพ โดยมีมวลถึงกว่า หกพันห้าร้อยล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ และอยู่ในใจกลางของกาแล็กซี M87 ที่ห่างออกไป 55 ล้านปีแสง
หลุมดำมวลยิ่งยวดเช่นนี้ จะมีมวลสารของดาวฤกษ์ที่บังเอิญโคจรเข้าไปใกล้เกินไป และถูกฉีกออกเป็นชิ้นๆ โดยแรงไทดัลอันมหาศาล ถูกเหวี่ยงออกไปรอบๆ กลายเป็นแก๊สร้อนที่หมุนวนไปรอบๆ หลุมดำ (คล้ายกับน้ำวนในอ่างอาบน้ำที่ถูกเปิดก๊อกออก) ในลักษณะที่เราเรียกว่าจานพอกพูนมวล (accretion disk) บริเวณของแก๊สร้อนในจานพอกพูนมวลนี้เอง ที่เป็นโครงสร้างที่ใกล้ชิดที่สุดของหลุมดำ ที่เราจะสามารถสังเกตเห็นได้ (ภาพคล้าย "โดนัท" สีส้ม ภาพล่างซ้าย)
แต่ในขณะที่มวลสารกำลังถูกเหวี่ยงและดูดเข้าสู่แรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของหลุมดำ ก่อนที่จะตกลงสู่ขอบฟ้าเหตุการณ์ (Event Horizon) มวลสารบางส่วนจะถูก "ดีด" ออก และพุ่งออกไปบริเวณขั้วในการหมุนของจานพอกพูนมวล แก๊สที่พุ่งออกมาในลักษณะคล้ายกับ "เจ็ท" (Astrophysical Jet) นี้นั้น อาจจะประกอบไปด้วยไอออนที่มีประจุ และพุ่งออกมาด้วยความเร็วเข้าใกล้แสง และสามารถพุ่งออกไปเป็นระยะทางหลายพัน แสน หรือถึงล้านพาร์เซค ซึ่งทำให้เจ็ทที่ออกมาจากหลุมดำเหล่านี้นั้น สามารถมีขนาดใหญ่กว่ากาแล็กซีทั้งกาแล็กซีได้เลยทีเดียว
นอกไปจากนี้ พลังงานอันมหาศาลของอนุภาคในเจ็ทเหล่านี้นั้น สามารถเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นวิทยุ ไปจนถึงรังสีแกมม่า
ซึ่งในภาพที่แนบมานี้ แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างต่างๆ ของเจ็ท ในช่วงความยาวคลื่นวิทยุ (ซ้าย) คลื่นยูวี (กลาง) และรังสีพลังงานสูง เช่น รังสีเอ็กซ์ ไปจนถึงแกมมา (ขวา) ที่ประกอบขึ้นเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบหลุมดำมวลยิ่งยวดนี้อยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้ เราสามารถไปดูในลักษณะของวีดีโอ แสดงเปรียบเทียบขนาดโดยการ "ซูมออก" จากหลุมดำ M87 ได้ที่ [4]
นอกไปจากนี้หลุมดำมวลยิ่งยวดเช่นนี้ อาจจะเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของรังสีคอสมิคพลังงานสูง ที่เต็มไปทั่วเอกภพ และกระทบเข้ากับโลกของเราอยู่ตลอดเวลา การศึกษาหลุมดำ M87 ในลักษณะนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตอบได้ว่าหลุมดำมวลยิ่งยวดเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญเพียงใดต่อรังสีคอสมิค
นอกจากหลุมดำจะเป็นสิ่งที่น่าพิศวงของธรรมชาติแล้ว แรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของมันยังเปรียบได้กับห้องปฏิบัติการชั้นดีที่เราจะสามารถทดสอบความเข้าใจในทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอสไตน์ได้ การสังเกตการณ์ในลักษณะเช่นนี้ของทีมงาน EHT จะช่วยให้เราสามารถยืนยันความเข้าใจทางทฤษฎีของเราเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง และสามารถเปรียบเทียบกับสิ่งที่สามารถสังเกตได้จริง ที่กำลังเกิดขึ้น ณ วัตถุที่มีแรงโน้มถ่วงมากที่สุดแหล่งหนึ่งในเอกภพที่สามารถเป็นไปได้ และความเข้าใจนี้เองที่จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะนำเราให้เข้าใกล้สู่ความเข้าใจในกฎที่แท้จริงของธรรมชาติอีกก้าวหนึ่ง
ภาพ: The EHT Multi-wavelength Science Working Group; the EHT Collaboration; ALMA (ESO/NAOJ/NRAO); the EVN; the EAVN Collaboration; VLBA (NRAO); the GMVA; the Hubble Space Telescope; the Neil Gehrels Swift Observatory; the Chandra X-ray Observatory; the Nuclear Spectroscopic Telescope Array; the Fermi-LAT Collaboration; the H.E.S.S collaboration; the MAGIC collaboration; the VERITAS collaboration; NASA and ESA. Composition by J. C. Algaba
อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม:
[1] https://eventhorizontelescope.org/blog/telescopes-unite-unprecedented-observations-famous-black-hole
[2] https://iopscience.iop.org/article/10.3847/2041-8213/abef71
[3] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/977309255812614
[4] https://www.youtube.com/watch?v=q2u4eK-ph40
alma telescope 在 มติพล ตั้งมติธรรม Facebook 的最佳貼文
นักดาราศาสตร์ค้นพบหลักฐานที่อาจจะบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์
ทีมนักดาราศาสตร์นำโดย Jane Greaves จาก Cardiff University สหราชอาณาจักรเผยถึงการค้นพบโมเลกุลของฟอสฟีน ซึ่งอาจจะบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ในวันนี้ (14 กันยายน 2563)
- ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์
ดาวศุกร์นั้นเป็นดาวเคราะห์ที่ได้ชื่อว่าเป็นคู่แฝดกับโลก เนื่องจากมีทั้งขนาดและระยะห่างจากดวงอาทิตย์ที่ใกล้เคียงกับโลกมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าดาวศุกร์จะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์กว่าโลกเพียง 30% แต่สภาวะเรือนกระจกแบบกู่ไม่กลับทำให้ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น และเก็บกักความร้อนเอาไว้มหาศาลจนมีสภาวะอุณหภูมิพื้นผิวร้อนพอที่จะหลอมตะกั่วได้ นอกจากนี้ในชั้นบรรยากาศยังเต็มไปด้วยแก๊สของกรดกำมะถัน แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ครั้งหนึ่งดาวศุกร์อาจจะเคยมีมหาสมุทรและมีสภาพอากาศที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากกว่านี้[3] - ก่อนที่แก๊สเรือนกระจกจะทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกแบบกู่ไม่กลับและกลายเป็นดาวเคราะห์ที่ใกล้เคียงกับขุมนรกอเวจีมากที่สุดในทุกวันนี้
แต่หากเราพิจารณาบนชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นไปแล้ว เราจะพบว่าที่ความสูงราว 50 กม.เหนือพื้นผิวดาวศุกร์นั้นกลับมีสภาพอากาศที่อ่อนโยน มีอุณหภูมิเพียง 30 องศาเซลเซียส และอาจจะมีสภาพที่พอเหมาะกับสิ่งมีชีวิตได้ มีการคาดการณ์กันว่าชั้นเมฆในบรรยากาศของดาวศุกร์อาจจะมีองค์ประกอบทางเคมีเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาที่นำไปสู่การกำเนิดของสิ่งมีชีวิต มีการคาดการณ์กันว่าหากในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้นมีสิ่งมีชีวิตอยู่จริง สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจจะอาศัยรังสียูวีจากดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งนี่อาจจะเป็นคำอธิบายหนึ่งถึงตัวดูดกลืนรังสียูวีปริศนาบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ที่จนทุกวันนี้เราก็ยังไม่ทราบคำตอบเป็นที่แน่ชัด[2]
นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาองค์ประกอบของดาวที่อยู่ห่างออกไปได้อย่างไร?
ดาราศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์ที่ศึกษาวัตถุที่เรายังไปไม่ถึง การจะศึกษาองค์ประกอบของวัตถุใดนั้นจึงทำโดยการศึกษาสเปกตรัมที่วัตถุนั้นปลดปล่อยออกมา โมเลกุลแต่ละโมเลกุลนั้น จะมีการดูดกลืนหรือเปล่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เช่น แสง) ออกมาในช่วงคลื่นที่สอดคล้องกับระดับพลังงานของโมเลกุลนั้น ซึ่งระดับพลังงานเหล่านี้นั้นจะมีลักษณะเฉพาะ ขึ้นอยู่กับธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นโมเลกุลนั้นๆ ดังนั้น หากเราสามารถสังเกตสเปกตรัมในการดูดกลืนของวัตถุที่อยู่ห่างออกไป ซึ่งมีลักษณะ และรูปแบบช่วงการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สอดคล้องกับโมเลกุลของสารที่เราสามารถวัดได้ในห้องทดลองบนโลก จึงเท่ากับเราสามารถยืนยันได้ว่าโมเลกุลชนิดเดียวกันนี้จะต้องมีอยู่บนดาวดวงที่เราทำการศึกษาอยู่ ในลักษณะเดียวกันนี้ หากเราพบการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ตรงกับโมเลกุลของฟอสฟีนจากสเปกตรัมที่ได้มาจากชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ จึงเท่ากับเป็นการยืนยันว่าในชั้นบรรยากาศนั้นมีโมเลกุลของฟอสฟีนอยู่
อย่างไรก็ตาม เส้นสเปกตรัมที่เกิดขึ้นในโมเลกุลของฟอสฟีนนั้นอยู่ในช่วงความยาวคลื่นประมาณ 1 มิลลิเมตร ซึ่งนอกจากจะเป็นช่วงคลื่นที่อยู่ในช่วงคลื่นวิทยุความถี่สูงที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้ว ยังเป็นช่วงคลื่นที่สามารถถูกดูดกลืนได้ง่ายโดยความชื้นในชั้นบรรยากาศของโลก การจะศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ในช่วงคลื่นนี้จึงสามารถทำได้เพียงจากหอสังเกตการณ์ที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงและแห้งแล้ง ปราศจากซึ่งไอน้ำในชั้นบรรยากาศ ซึ่งทางทีมงานได้ค้นพบสเปกตรัมที่เกิดขึ้นจากโมเลกุลของฟอสฟีนบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ขึ้นเป็นครั้งแรกผ่านทางกล้องโทรทรรศน์ James Clerk Maxwell Telescope (JCMT) บนยอดเขาโมนาเคอา ในหมู่เกาะฮาวาย จึงได้ศึกษาซ้ำโดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ 45 ตัวของ Atacama Large Millimeter/submillimeter Array (ALMA) ในทะเลทรายของประเทศชิลี และได้ยืนยันการค้นพบการดูดกลืนในช่วงคลื่นที่ตรงกับโมเลกุลของฟอสฟีน เหนือความร้อนระอุจากพื้นผิวดาวศุกร์ที่อยู่เบื้องล่าง จึงเท่ากับเป็นการยืนยันการมีอยู่ของฟอสฟีนในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์
- ฟอสฟีนคืออะไร สำคัญอย่างไร?
ฟอสฟีน (Phosphine) เป็นโมเลกุลที่เป็นสารประกอบระหว่างธาตุฟอสฟอรัสและไฮโดรเจน มีสูตรทางเคมี PH3 คล้ายกับโมเลกุลของแอมโมเนียที่ถูกแทนที่ด้วยฟอสฟอรัส บนโลกนั้นฟอสฟีนมีสถานะเป็นแก๊สที่ไม่มีสี ไวไฟ และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้การค้นพบฟอสฟีนบนดาวดวงอื่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากนั้น เนื่องจากบนโลกนั้นฟอสฟีนมีแหล่งกำเนิดเพียงแค่สองแหล่ง คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม หรือเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าบนโลกนั้นแหล่งกำเนิดหลักของฟอสฟีนเกิดขึ้นจากปฏิกิริยารีดักชันของสารประกอบพวกฟอสเฟต แต่ไม่มีสภาพแวดล้อมใดบนโลกที่สามารถผลิตตัวรีดิวซ์ที่มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยารีดักชันที่ผลิตฟอสฟีนได้อีกเลยนอกไปจากตัวรีดิวซ์ที่พบในสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ฟอสฟีนยังสามารถทำปฏิกิริยากับสารประกอบอื่นได้ง่าย การที่จะพบฟอสฟีนอยู่ในชั้นบรรยากาศได้จึงจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งที่ผลิตฟอสฟีนมาชดเชยอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งคำถามแรกที่นักดาราศาสตร์จะต้องตอบให้ได้เสียก่อน ก็คือ มีกลวิธีใดอีกไหมบนดาวศุกร์ ที่อาจจะทำให้เกิดโมเลกุลของฟอสฟีนได้ ทีมนักวิจัยที่นำโดย William Bains จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) จึงลองทำการประเมินกลไกตามธรรมชาติที่อาจจะผลิตฟอสฟีนได้บนดาวศุกร์ ตั้งแต่ แสงแดด แร่ธาตุทื่ถูกพัดขึ้นมาจากพื้นผิวเบื้องล่าง ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะลองพิจารณาเช่นไร การคำนวณก็พบว่าแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติเหล่านี้ไม่สามารถที่จะผลิตแม้กระทั่งปริมาณฟอสฟีนหนึ่งในหมื่นของที่ตรวจพบโดยกล้องโทรทรรศน์ แต่ในทางตรงกันข้าม หากทีมลองพิจารณาถึงแหล่งกำเนิดที่เกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตแล้ว กลับพบว่าหากสิ่งมีชีวิตทำงานแค่เพียง 10% ของขีดจำกัดสูงสุด ก็จะสามารถผลิตฟอสฟีนเพียงพอที่จะอธิบายปริมาณที่ตรวจพบบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ได้แล้ว
- เท่ากับว่าเราค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์หรือไม่?
การค้นพบฟอสฟีนในปริมาณที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยกลไกตามธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง และทำให้เราต้องกลับมาพิจารณาทฤษฎีการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ยังห่างไกลจากการยืนยันถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตพอสมควร แม้ว่าในปัจจุบัน ทฤษฎีที่บ่งชี้ว่าฟอสฟีนในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้นเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตจะเป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงปริมาณฟอสฟีนที่พบได้ดีที่สุด แต่การจะยืนยันว่าดาวศุกร์นั้นมีสิ่งมีชีวิตยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลอีกมาก แม้ว่าชั้นบรรยากาศตอนบนของดาวศุกร์อาจจะมีอุณหภูมิเพียง 30 องศา แต่ชั้นบรรยากาศในบริเวณนี้นั้นก็ยังเต็มไปด้วยกรดกำมะถันกว่า 90% ซึ่งเรายังไม่พบว่ามีสิ่งมีชีวิตใดบนโลกที่สามารถอยู่รอดในสภาวะเช่นนั้นได้ หากชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์มีสิ่งมีชีวิตจริง ก็เป็นไปได้ว่าสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์นั้นอาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสิ่งมีชีวิตใดๆ บนโลกที่เรารู้จัก
และแน่นอนว่าก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าฟอสฟีนที่พบนั้นอาจจะเป็นเพียงผลผลิตจากปฏิกิริยาเคมีแบบใหม่ที่เรายังไม่รู้จัก แต่นั่นก็เท่ากับเป็นการบ่งชี้ว่าความเข้าใจทางด้านเคมีที่มนุษย์เรามีนั้นยังไม่สมบูรณ์ และยังมีปฏิกิริยาแปลกประหลาดบางอย่างซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เพียงเฉพาะในสภาพแวดล้อมอันแปลกประหลาดบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ซึ่งหากเราพิจารณาว่าสิ่งที่เรารู้จักกันว่าเป็น “สิ่งมีชีวิต” บนโลกของเรา แท้จริงแล้วก็ไม่ได้ต่างอะไรกับปฏิกิริยาทางเคมีอันซับซ้อนและแปลกประหลาดเหนือสิ่งอื่นใดในธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งการค้นพบแหล่งที่มาของฟอสฟีนบนดาวศุกร์ในอนาคตอาจจะทำให้เราต้องมาพิจารณานิยามของสิ่งที่เราเรียกว่า “สิ่งมีชีวิต” ขึ้นเสียใหม่ก็เป็นได้ และไม่ว่าเราจะพบสิ่งมีชีวิตบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์หรือไม่ การค้นพบนี้ย่อมเท่ากับเป็นการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ในการหาสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวไปโดยปริยาย
แน่นอนว่า การศึกษาในอนาคตจะช่วยตอบคำถามเหล่านี้ให้กับเราได้ ในอนาคตอันใกล้ทีมนักวิจัยนี้จะทำการศึกษาต่อ เพื่อค้นหาว่าฟอสฟีนจะมีอยู่ในบริเวณอื่นบนเมฆของดาวศุกร์หรือไม่ และจะมีโมเลกุลอื่นใดอีกหรือไม่ ที่จะช่วยยืนยันถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ได้
ทั้งนี้ กล้องโทรทรรศน์ JCMT ที่ได้ค้นพบฟอสฟีนบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์เป็นครั้งแรกนี้ เป็นหอดูดาวที่บริหารโดยเครือข่าย “หอดูดาวในเอเชียตะวันออก” หรือ East Asian Observatory (EAO) ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมลงอนุสัญญานามเป็นสมาชิกร่วมอยู่ด้วย[4] ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ที่ตรวจพบฟอสฟีน จะถูกปลดประจำการและแทนที่ด้วยอุปกรณ์ที่ดีกว่าเดิมไปแล้ว แต่ใครจะไปรู้ ในอนาคตอันใกล้นี้ การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ถัดไปที่เกิดขึ้นบนหอดูดาวเช่น JCMT นี้ อาจจะมีชื่อของน้องๆ คนไทยที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็ได้
อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม:
[1] https://www.nature.com/articles/s41550-020-1174-4
[2] https://agupubs.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/2017JE005406
[3] https://www.facebook.com/NARITpage/photos/pb.148300028566953.-2207520000../3492242087506047/
[4] https://www.eaobservatory.org/east-asia-observatory/eao-divisions/
alma telescope 在 ALMA Observatory - Home | Facebook 的美食出口停車場
Galaxy NGC 4535 is one of them! ALMA (orange/red) composite with Hubble Space Telescope S. Dagnello (National Radio Astronomy Observatory (NRAO). ... <看更多>